xs
xsm
sm
md
lg

สั่งล่าตัวคนมือบอน เขียนชื่อทับ “ภาพเขียนสีโบราณประตูผา” อายุร่วม 3 พันปี (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - อธิบดีกรมศิลปากร สั่งเจ้าหน้าที่จดชื่อคนมือบอนเขียนชื่อตัวเองทับ “แหล่งภาพเขียนสีโบราณคดีประตูผา” อายุเกือบ 3 พันปี แถมวาดภาพทับซ้ำจนเสื่อมค่าลงอย่างน่าเสียดาย พร้อมเตรียมให้ผู้เชี่ยวชาญหาทางฟื้นฟู กั้นรั้วลวดหนามกันคนเข้าใกล้อีก



วันนี้ (27 ก.พ.) ร.ท.ยงยุทธ ปัญญารัตน์ ทหารค่ายฝึกรบพิเศษประตูผา จ.ลำปาง ได้นำคณะนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วย นายเสนาะ จิณะสิทธิ์ และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน ตรวจแหล่งภาพเขียนสีโบราณคดีประตูผา

หลังมีการนำเสนอข่าวว่า บริเวณฝาผนังถ้ำประตูผาซึ่งมีภาพเขียนสีโบราณ ถูกพวกมือบอนนำสีไปเขียนชื่อ ข้อความ และวาดรูปภาพเพิ่มเติม จนทำให้ภาพเสื่อมคุณค่าลง

นายอนันต์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าได้เกิดความเสียหายต่อแหล่งภาพเขียนสีโบราณคดีประตูผาขึ้นแล้ว โดยเฉพาะการเขียนของคนปัจจุบัน โดยสีปัจจุบัน ทั้งตามหน้าผา และบางส่วนก็เขียนทับลงไปบนภาพเขียนสีโบราณอย่างที่เป็นข่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

“ถามว่าเสียหายไหมเสียหายเยอะ แต่ยังไม่ได้ประเมิน วันนี้ที่มาดูการที่มีการเขียนทับภาพเขียนโบราณทำให้คุณค่าของภาพหายไปเยอะมาก คนที่มาดูทีหลังเลยไม่รู้ว่าอันไหนของดั้งเดิม อันไหนเป็นของที่ทำขึ้นมาใหม่ และการเขียนทับเป็นตัวทำลายทั้งโดยตรง และโดยอ้อม ทำให้ภาพเขียนเสื่อมค่าลง ส่วนที่ไปเขียนชื่อ กลอน ภาพต่างๆ บนผนังที่ไม่ใช่ภาพเขียนสีก็ทำให้ภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อมโดยรอบก็ไม่น่าดู”

นายอนันต์ กล่าวอีก หลังตรวจสอบได้สั่งการ 3 เรื่อง คือ 1.ภาพเขียนสีมีคุณค่าทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงออกถึงการใช้ชีวิตของคนในสมัยโบราณผ่านทางภาพเขียน ซึ่งก็ถือเป็นโบราณสถานอย่างหนึ่ง ให้สำนักกรมศิลปากรที่ 7 เร่งเข้ามาสำรวจพื้นที่ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน

2.วันนี้ได้นำผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์มาดูว่า จะวิธีการที่จะลบสิ่งที่คนเขียนบนผนังหินได้หรือไม่ แต่ที่กังวลคือ บางกลุ่มไปเขียนทับบนภาพเขียน ซึ่งต้องดูว่าจะทำอย่างไรที่จะลบเฉพาะสีที่เขียนทับออก โดยที่สีเดิมไม่หลุดออกมาด้วย

3.เรื่องของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยว ทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถที่จะมาเฝ้าดูได้ตลอดเวลา ดังนั้น ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปประชิดกับภาพเขียนสี หรือผนังถ้ำ ซึ่งกำลังดูว่า จะใช้ลวดหนามเหมือนที่ผาแต้ม โดยให้ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตย์มาดูว่า จะออกแบบอย่างไร โดยจะต้องสามารถกันนักท่องเที่ยวไม่ให้เข้าใกล้ได้ รวมทั้งต้องให้กลมกลืนกับธรรมชาติด้วย

ส่วนผู้ที่เขียนชื่อไว้ตามผนังถ้ำ ตนให้เจ้าหน้าที่จดชื่อ ถ่ายรูป และให้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเรียกมาสอบสวน เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ทำให้โบราณสถานแห่งนี้เสื่อมค่าลง ซึ่งต่อไปเจ้าหน้าที่จะดูแลอย่างจริงจังหากพบใครที่เข้ามาขีดเขียนก็จะถูกดำเนินคดี

“ขอฝากชาวลำปาง และนักท่องเที่ยวได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องดูแลอย่าให้ใครเข้ามาทำลายภาพเขียนสีโบราณแห่งนี้อีก”

สำหรับภาพเขียนสีโบราณแห่งนี้ถูกค้นพบโดย ร้อยเอกชูเกียรติ มีโฉม (ยศในขณะนั้น) ระหว่างทำการฝึกไต่เชือกบริเวณหน้าผา ในปี พ.ศ.2531 คือ เมื่อ 28 ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้น สำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ จึงได้ร่วมกับค่ายฝึกรบพิเศษประตูผา ทำการขุดค้นเพื่อศึกษา พร้อมกับทำการคัดลอกภาพเขียนสีขึ้นในบริเวณแหล่งโบราณคดีประตูแห่งนี้ในปี 2541

ทั้งนี้ พบว่าแหล่งโบราณแห่งนี้เป็นประเภทแหล่งฝังศพ และแหล่งเขียนสีของคนยุคประวัติศาสต์ที่สำคัญในเขตภาคเหนือตอนบน สันนิษฐานว่า เทคนิคการเขียนภาพโบราณดังกล่าวมีอายุราว 2,800-3,000 ปีมาแล้ว โดยภาพเขียนสี แบ่งเป็น 7 กลุ่ม เขียนโดยรอบผนังถ้ำซึ่งมีความยาวกว่า 500 เมตร ได้แก่

กลุ่ม 1 ชื่อผาเลียงผา จะพบภาพมือ ภาพสัตว์คล้ายเต่า นก เก้ง หรือเลียงผา

กลุ่ม 2 ชื่อผานกยูง จะมีภาพคล้ายนกยูง และมีภาพสัตว์อื่น เช่น กระรอก มือคน

กลุ่ม 3 ชื่อผาวัว มีภาพวัว และคนที่คล้ายกำลังประกอบพิธีกรรมอยู่หน้าสัตว์ขนาดใหญ่คล้ายวัว

กลุ่ม 4 ชื่อผาเต้นระบำ มีภาพเล่าเรื่องของกลุ่มบุคคลที่มีทั้งหญิงชายกำลังเคลื่อนไหวคล้ายเต้นระบำ

กลุ่ม 5 ชื่อผาหินตั้ง มีภาพสัตว์คล้ายวัว และการประกอบพิธีกรรมการฝังศพในวัฒนธรรมหินตั้ง

กลุ่ม 6 ชื่อผานางกางแขน มีภาพมือ สัตว์ และภาพบุคคลคล้ายสตรียืนยกแขนสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ

กลุ่ม 7 ชื่อผาล่าสัตว์ และกระจง มีภาพมือ ภาพสัตว์คล้ายกระจง และภาพบุุคคลเพศชายกำลังถือบ่วงบาศเพื่อจับสัตว์ประเภทวัว และมีบุคคลในลักษณะคล้ายกำลังฝึกสอนวัว

และจากการตรวจสอบสีที่เขียนซึ่งเป็นสีแดงพบว่า เป็นสายแร่เหล็กสีแดงผสมกับยางไม้ และไขสัตว์ และพบว่าสถานที่แห่งนี้มีภาพเขียนมากที่สุด ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และในภาคเหนือรวม 1,872 รูป มีอายุยาวนานร่วม 3,000 ปี







กำลังโหลดความคิดเห็น