xs
xsm
sm
md
lg

กระหึ่มจริง! ทั้งพระ ฆราวาส เด็ก นร.เพชรบูรณ์ สนใจต้านเหมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพชรบูรณ์ - กระแสอนุรักษ์ลามไม่หยุด คนเพชรบูรณ์ทุกแวดวงทั้งลูกเด็กเล็กแดง พระสงฆ์ ชาวบ้าน ฯลฯ สนใจร่วมรณรงค์ต่อต้านนายทุนผุดเหมืองแร่ในพื้นที่ต่อเนื่อง หวั่นซ้ำรอยผลกระทบเหมืองทองพิจิตร และเลย ขณะที่ชาวบ้านหนองแจง บึงสามพัน ส่งคนร้องดีเอสไอสอบ จนท.รัฐเอื้อโรงงานน้ำตาล

วันนี้ (27 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรณรงค์คัดค้านไม่เอาเหมืองแร่ของชาว จ.เพชรบูรณ์ ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงชุมชน และประชาชนในพื้นที่เท่านั้นที่เกิดความตื่นตัว และตื่นรู้ แม้กระทั่งครู และเด็กนักเรียน รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ตามวัดวาอารามในพื้นที่เป้าหมายที่จะมีการสำรวจหาแหล่งแร่ ต่างก็ให้ความสนใจรวมเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก

นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรม จ.เพชรบูรณ์ และแกนนำกลุ่มคนเพชรบูรณ์ไม่เอาเหมืองแร่ กล่าวว่า ช่วงนี้มีคิวลงพื้นที่เพื่อเป็นวิทยากรให้ความรู้ถึงผลกระทบหากมีเหมืองแร่เกิดขึ้นในพื้นที่ค่อนข้างยาว คนเพชรบูรณ์ทุกแวดวงสังคมให้ความสนใจเรื่องการต่อต้านเหมืองแร่ เชิญไปบรรยายต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก

นายวิศัลย์ กล่าวว่า สำหรับการรณรงค์ชี้แจงให้ความรู้ดังกล่าวมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชุมชน และให้ช่วยกันเฝ้าระวังหากไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบตามมาเหมือนเหตุการณ์เหมืองทองในพิจิตร และเลย โดยทุกคนต่างตระหนักกันเป็นอย่างดี

โดยโจทย์ หรือคำถามที่มักจะถูกซักถามถึงมักจะเป็นจุด หรือบริเวณที่เหมืองแร่จะเกิดขึ้น รวมทั้งวิธีการที่จะไม่ให้มีการสำรวจแร่ หรือผุดเหมืองแร่ขึ้นในพื้นที่ จึงชี้ไปแจงไปว่า ขั้นตอนนี้แม้จะเป็นขั้นตอนการสำรวจก็ตาม หากที่ดินมีเอกสารสิทธิโดยชาวบ้านเจ้าของที่ดินไม่ยินยอม บริษัทเอกชนก็เข้าสำรวจไม่ได้เช่นกัน ส่วนในขั้นตอนสุดท้ายการขอประทานบัตรซึ่งต้องมีการประชาคมชาวบ้าน หากทุกคนไม่เห็นด้วยเหมืองแร่ก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ในการลงชี้แจงจะมีการนำแผนพับข้อมูลผลกระทบเมืองแร่ไปแจกจ่ายด้วย และหลังเสร็จสิ้นการบรรยายแล้วกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะอาสาร่วมเป็นเครือข่ายในการร่วมติดตามเฝ้าระวัง พร้อมให้ข้อมูลผ่านทางเครือข่ายโซเชียลมีเดียของกลุ่มฯ อีกด้วย

ด้าน นายกฤษณพงศ์ สอนน้อย แกนนำกลุ่มเครือข่ายสังคมชนบท คัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลที่ ต.หนองแจง อ.บึงสามพัน จเพชรบูรณ์ พร้อมชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองแจง ที่ได้รับผลกระทบจำนวนราว 30 คน ก็ได้เข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผ่าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และกลไกเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานน้ำตาลที่ ต.หนองแจง

นายกฤษณพงศ์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลดังกล่าวแล้ว เนื่องจากการก่อสร้างอยู่ในพื้นที่สีเขียว และการประชาคมส่อความไม่โปร่งใส แต่ที่ผ่านมา นอกจากจะไม่เป็นตามข้อเรียกร้องแล้ว ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดดันหลายด้าน อีกทั้งผู้คัดค้านยังถูกข่มขู่เอาชีวิตอีกด้วย

ทั้งนี้ ในหนังสือดังกล่าวมีการแจกแจงข้อร้องเรียนรวม 7 กรณี เช่น การหยิบยกเหตุการณ์ที่ทางแกนนำถูกทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองเชิญหารือโดยระบุว่าเป็นการเรียกไปปรับทัศนคติมากกว่า และยังแสดงพฤติกรรมเอื้อโรงงานน้ำตาลในเรื่องอุบัติเหตุจากรถบรรทุกอ้อย

รวมทั้งมีการสั่งผู้นำหมู่บ้านกำชับลูกบ้านอย่าให้ความร่วมมือต่อกลุ่มคัคค้านในทุกด้าน พื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตพื้นที่สีเขียว และยังอยู่ในเขตชุมชนติดถนนหลวงหมายเลข 21 นอกจากนี้ กระบวนการทำประชาคมที่ผ่านมาใช้วิธีฉ้อฉลจนชาวบ้านลงชื่อไปด้วยความเข้าใจผิด

ท้ายหนังสือ นายกฤษพงศ์ ได้ขอให้ตรวจสอบกระบวนการการทำประชาคมทั้งระบบว่า ถูกต้องหรือไม่ และให้ตรวจสอบการอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานในเขตพื้นที่สีเขียวถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งการความขัดแย้งต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หลัง พ.ต.ต.วรณัน รับหนังสือดังกล่าวแล้วได้รับปากว่าจะเร่งนำเสนอทางอธิบดีฯ โดยด่วน






กำลังโหลดความคิดเห็น