ศูนย์ข่าวศรีราชา - กนอ.แหลมฉบัง ร่วมผู้ประกอบการ ชุมชน มุ่งพัฒนาสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา
วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ห้องประชุมราชพฤกษ์ สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง (กนอ.) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายคณพศ ขุนทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นประธานการประชุมสมาชิกเครือข่าย ECO-Green Network นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง โดยมีตัวแทนผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง หน่วยงานราชการในพื้นที่ และชุมชนรวบนิคมฯ แหลมฉบัง ร่วมประชุม และเสนอแนะเพื่อร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ที่ผ่านมา ทางผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯแหลมฉบัง หน่วยงานราชการในพื้นที่ และชุมชน ได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาโดยตลอด และเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปด้วยดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และครั้งนี้ร่วมประชุมเพื่อให้สมาชิกในเครือข่าย ECO-Green Network เสนอแนวความคิดเพื่อร่วมกันพัฒนาต่อไป
นายคณพศ กล่าวว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำหนดวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรนำสร้างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีดุลยภาพและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายพัฒนายกระดับเครือข่าย ECO-Green Network ที่สามารถเสนอแนะพร้อมนำข้อเสนอแนะมาร่วมกันพัฒนา โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า และพัฒนานิคมฯ ในด้านต่างๆ ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ความร่วมมือที่ผ่านมา เช่น การปลูกป่า และป่าชายเลนเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดีขึ้น การปล่อยปลา ปูสู่แหล่งน้ำ การรักษาสภาพคูคลองให้สวยน้ำใส การส่งเสริมอาชีพให้แก่ชุมชน การพาชุมชนเข้าเยี่ยมชมโรงงาน ร่วมกิจกรรมในงานประเพณีและวัฒนธรรมในพื้นที่ด้วยกัน ซึ่งการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเพื่อเป็นการร่วมกันพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
นายคณพศ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในครั้งนี้ในที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะปัญหารถเทรลเลอร์ ซึ่งควรจะกำหนดชั่วโมงการวิ่ง โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนไม่ควรให้รถเทรลเลอร์วิ่ง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนบริเวณพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนั้น ในช่วงนี้มีการก่อสร้างถนนในพื้นที่และรอบข้าง ซึ่งสร้างปัญหา และผลกระทบด้านฝุ่น
โดยการนิคมฯ ควรประสานผู้รับเหมาเพื่อป้องกันฝุ่นละอองไม่ให้ฟุ้งกระจายสู่โรงงาน และต่อพนักงานในขณะนี้ ซึ่งเรื่องนี้ทางการนิคมฯ พร้อมรับเรื่อง และจะประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป เพราะปัญหาที่เกิดถือว่าเป็นปัญหาร่วมกันที่ต้องแก้ไข ส่วนกิจกรรมที่เคยทำร่วมกันแล้วก็ต้องทำต่อเนื่องเพื่อประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้นต่อไป