xs
xsm
sm
md
lg

ยก “หินโงมโมเดล” แก้ปัญหาภัยแล้งเมืองหนองคาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หนองคาย - ผู้ว่าฯ หนองคาย ยกหินโงมโมเดล ผันน้ำโขงเข้าพื้นที่เกษตรตอนใน ยืนยันหนองคายไม่เกิดแล้งวิกฤต สามารถบริหารจัดการน้ำได้ พร้อมตั้ง 85 สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากระจายทุกอำเภอ เล็งศึกษาใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูบน้ำโขง

วันนี้ (23 ก.พ. 59) นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยนายโสภณ ห่วงญาติ นายอำเภอเมืองหนองคาย ได้ออกตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าหินโงม หรือหินโงมโมเดล ที่ ต.หินโงม อ.เมืองหนองคาย ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือกันระหว่าง 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.หินโงม ต.หาดคำ ต.สีกาย อ.เมืองหนองคาย และ ต.เหล่าต่างคำ อ.โพนพิสัย

ทั้งนี้ ได้ช่วยบริหารจัดการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่รางระบายน้ำ แล้วเก็บกักน้ำตามหนองน้ำน้อยใหญ่ จากนั้นให้เกษตรกรใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กสูบน้ำต่อเข้าพื้นที่การเกษตรซึ่งมีทั้งปลูกข้าวนาปรัง ข้าวโพด แตงโม ช่วยให้เกษตรกร 4 ตำบล พื้นที่การเกษตรมากกว่า 1 หมื่นไร่มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี

นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า จากการที่กระทรวงมหาดไทยระบุว่า หนองคาย เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบภัยแล้งนั้น ความจริงแล้วจังหวัดหนองคายไม่ได้แล้งถึงขั้นวิกฤต

ภาพที่ปรากฏออกไปเนื่องจากระดับน้ำโขงลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่อง ตามรอบปกติของน้ำโขง ทำให้เห็นฐานพระธาตุกลางน้ำโผล่ขึ้นมาให้ประชาชนได้สักการบูชา แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดได้บริหารจัดการน้ำ โดยจัดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 85 สถานีทั่วทั้งจังหวัด สูบน้ำโขงเข้ามาสู่รางระบายน้ำและเก็บกักน้ำให้ประชาชนได้ใช้ จนถึงพื้นที่ตอนในที่ไม่ติดกับแม่น้ำโขงก็ยังมีโครงการในพระราชดำริ ห้วยทอน ซึ่งมีน้ำเหลืออยู่พอสมควร ยืนยันว่าจังหวัดหนองคายไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งแต่อย่างใด

ด้านนายจันทรา ดาแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหินโงม กล่าวว่า ต.หินโงม มีเกษตรกรปลูกพืช ข้าวนาปรัง ข้าวโพด และแตงโม ประมาณ 2,500 ไร่ มากกว่าปีที่ผ่านมาที่มีประมาณ 2,200 ไร่ เกษตรกรรวมกลุ่ม 9 กลุ่ม จัดสรรการใช้น้ำ ใน 1 วัน จะสูบน้ำ 22 ชั่วโมง หยุดพักเครื่อง 2 ชั่วโมง โดยเกษตรกรจะเป็นผู้จ่ายเงินค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 60 ส่วนอีกร้อยละ 40 ทาง อบต.จะรับผิดชอบ

ที่ผ่านมาไม่มีปัญหาทะเลาะแย่งน้ำกัน เพราะจัดสรรเวลาสูบน้ำของแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน และโครงการนี้สามารถช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

ขณะเดียวกัน นายพงษ์ธร มิลินทบุญย์ พลังงานจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยนายยศดนัย หมวดอินทร์ วิศวกรไฟฟ้าสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สำรวจพื้นที่โครงการหินโงมโมเดล ตามคำขอของผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ให้พิจารณาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการใช้ไฟฟ้าในการสูบน้ำโขง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายสูญเปล่า

โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถดำเนินการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้สูบน้ำ ส่วนในเวลากลางคืนใช้เป็นพลังงานให้แสงสว่างได้ ระหว่างนี้จะทำโครงการพิจารณาต่อกระทรวงพลังงานเพื่อขอรับการพิจารณา งบประมาณ 10 ล้านบาท และมหาวิทาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้มาแล้วในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์เข้าสถานีสูบน้ำได้
นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นำคณะติดตามการดำเนินงานโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าหินโงม หรือ หินโงมโมเดล ที่ ต.หินโงม อ.เมืองหนองคาย



กำลังโหลดความคิดเห็น