จันทบุรี - กองทัพไทย จัดโครงการฝึกคอบร้าโกลด์ 16 ด้วยกระสุนจริง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางทหารในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพไทย กับกองทัพมิตรประเทศ ในภารกิจการรักษาสันติภาพ และการบรรเทาภัยพิบัติตามหลักมนุษยธรรม
วันนี้ (19 ก.พ.) พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.ต. James S. Hartsell ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก เป็นประธานร่วมในพิธีปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 16 ณ สนามฝึกกองทัพเรือหมายเลข 16 บ้านจันทนเขลม อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี พร้อมรับชมการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง
โดยมีประธานเสนาธิการร่วม กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น เสนาธิการทหาร กองทัพมาเลเซีย ผู้แทนกองทัพสิงคโปร์ ผู้แทนกองทัพอินโดนีเซีย ผู้แทนกองทัพสาธารณรัฐเกาหลี และผู้แทนเหล่าทัพ เข้าร่วมด้วย
สำหรับการจัดการฝึกคอบร้าโกลด์ 16 เป็นการฝึกปฏิบัติการร่วม/ผสมทางทหารที่สำคัญระหว่างกองทัพไทย กองทัพสหรัฐอเมริกา และกองทัพจากมิตรประเทศที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานร่วม 35 ปี โดยมีประเทศที่เข้าร่วมการฝึกรวมทั้งสิ้น 27 ประเทศ ซึ่งมีจำนวนกำลังพลเข้าร่วมการฝึกฯ กว่า 9,000 นาย ในการฝึกหลัก จำนวน 7 ประเทศ คือ ไทย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย และสิงคโปร์
โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีน และอินเดียเข้าร่วมในส่วนโครงการช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ยังมีประเทศในโครงการฝ่ายเสนาธิการผสมนานาชาติ (MPAT) จำนวน 9 ประเทศ
ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี บังกลาเทศ เนปาล มองโกเลีย และฟิลิปปินส์ ประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึก (COLT) จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว เวียดนาม ชิลี บรูไน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
โดยมีพื้นที่หลักในการฝึกคือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก กำหนดการฝึกฯ ในระหว่างวันที่ 9 ถึง 19 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการฝึกคอบร้าโกลด์ในปีนี้ คือ การพัฒนาขีดความสามารถทางทหารในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพไทย กับกองทัพมิตรประเทศ ในภารกิจการรักษาสันติภาพ และการบรรเทาภัยพิบัติตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นหลักประกันเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพไทยในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ภูมิภาคอย่างยั่งยืนสืบไป
ปัจจุบัน การฝึกคอบร้าโกลด์ (COBRA GOLD) ถือเป็นการฝึกทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก (USPACOM) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี และเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีส่วนในการเสริมสร้างและยืนยันความพร้อมของกองทัพในการปฏิบัติภารกิจทางทหาร การสนับสนุนการพัฒนาชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การบรรเทาภัยพิบัติร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และชุมชน
ที่สำคัญยังเป็นหนทางเพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหม ในการลดความระแวงระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ด้วยการขยายความร่วมมือทางทหารอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพของมิตรประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติตลอดไป