xs
xsm
sm
md
lg

ทูตสหรัฐฯ ร่วมพิธีเปิด “คอบร้าโกลด์ 2016” จี้ไทยจัด “เลือกตั้ง” คืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วย กลิน ที. เดวีส์ (Glyn T. Davies) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมเป็นประธานเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 2016 ที่ กองบัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
เอเอฟพี/MGR Online - เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เรียกร้องรัฐบาลไทยเร่งจัดการเลือกตั้งฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว ระหว่างร่วมพิธีเปิดการฝึกผสมภายใต้รหัส “คอบร้าโกลด์ 2016” ซึ่งมีทหารจาก 27 ประเทศเข้าร่วม ณ กองบัญชาการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี วันนี้ (9 ก.พ.)

คอบร้าโกลด์ เป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทยและกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในไทยเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 1980

สหรัฐฯ ส่งทหารราว 3,600 นายมาเข้าร่วมการฝึกผสม ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-16 กุมภาพันธ์ โดยมี 27 ประเทศที่เข้าร่วมการฝึก แบ่งออกเป็นประเทศหลักๆ 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐฯ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยมีจีนและอินเดียเข้าร่วมในส่วนของโครงการฝึกช่วยเหลือประชาชน

สำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า สหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันอย่างหนักให้ยกเลิกการฝึกร่วมดังกล่าวเสียหลังจากกองทัพไทยทำการปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อปี 2014 ซึ่งถือเป็นการรัฐประหารครั้งล่าสุดที่บั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตยในไทย

กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้กล่าวชื่นชมมิตรภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างวอชิงตันและกรุงเทพมหานคร แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกำลังเผชิญ “ปัญหาท้าทายชั่วคราว”

“ความเป็นหุ้นส่วนของเราที่ลึกซึ้งและกว้างขวางเช่นทุกวันนี้ จะยังเติบโตแข็งแกร่งต่อไปได้อีก หากประเทศไทยหวนคืนสู่การมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันเอาไว้แล้ว” เดวีส์เอ่ยในสุนทรพจน์เปิดการฝึกร่วม

“ด้วยระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน บทบาทผู้นำในภูมิภาคของไทยและความเป็นพันธมิตรระหว่างเราทั้งสองชาติจะสามารถพัฒนาต่อไปจนเต็มศักยภาพ”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การเลือกตั้งทั่วไปจะจัดขึ้นภายในฤดูร้อนปี 2017 ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นจะเป็นเช่นใดก็ตาม

คำแถลงของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ มีขึ้น ในขณะที่รัฐบาลไทยหันมาใช้นโยบายการทูตมุ่งหน้าสู่ตะวันออก โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งเป็นทั้งคู่ค้ารายใหญ่และแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ประกาศจุดยืนไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของชาติพันธมิตร

สหรัฐฯ พยายามใช้นโยบายการทูตที่รัดกุมเพื่อประคับประคองความสัมพันธ์กับมิตรเก่าแก่อย่างไทย แต่ขณะเดียวกันก็ประกาศชัดเจนว่าต่อต้านรัฐประหาร และไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามกลุ่มพลเมืองที่ต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

รัฐบาลอเมริกันได้แสดงความผิดหวังต่อการรัฐประหารที่เกิดขึ้น โดยสั่งระงับความช่วยเหลือด้านความมั่นคงมูลค่า 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณครึ่งหนึ่งที่เคยมอบให้ไทยในแต่ละปี รวมถึงยกเลิกกำหนดการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ทว่าหลังจากนั้นความสัมพันธ์ก็ค่อยๆ กลับมาดีขึ้นตามลำดับ






กำลังโหลดความคิดเห็น