ศูนย์ข่าวศรีราชา - นิสิตคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ ม.บูรพา กว่า 400 คน รวมตัวฟังคำชี้แจงจากคณบดี หลังให้เวลา 7 วันในการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน ผลการชี้แจงไม่เป็นที่น่าพอใจ พร้อมเตรียมยื่นเรื่องต่ออธิการบดีพิจารณาโดยเร่งด่วน หลังนิสิตหมดความเชื่อถือในการบริหารต่อไป
วันนี้ (16 ก.พ.) ที่ห้องประชุมตึกคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี กลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึงปี 4 ประมาณ 400 คน ได้มารวมตัวอีกครั้งเพื่อฟังคำชี้แจงจาก ดร.สุพรรณ กาญจนสุธรรม คณบดีคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ หลังที่มีการยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ เพื่อให้คณบดีตอบข้อสงสัยในการบริหารที่ผ่านมา
สำหรับข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย 1.มีการแทรกแซงเกรดของนิสิตจากคณบดี 2.มีการขึ้นเงินค่าบำรุงคณะ โดยชั้นปีที่ 1 ในภาคปกติจากเดิมเคยเก็บเพียง 1,500 บาท เพิ่มเป็น 6,000 บาท ส่วนภาคพิเศษ จากเดิม 3,000 บาท เพิ่มเป็น 9,000 บาท โดยมีสาเหตุ หรือหลักคิดอย่างไร เพราะอุปกรณ์ที่ซื้อใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล หรือเงินจากรายได้คณะ นอกจากนั้น อุปกรณ์ทางด้านภูมิสารสนเทศที่ซื้อมา เช่น unmanned Aerial Vehicle (UAV) และเครื่อง Spectroradiometer อยู่ในหลักสูตร หรือรายวิชาอะไร
3.นโยบายที่ไม่ให้นิสิตได้ทำการศึกษาจริงในภาคสนาม มีสาเหตุ หรือหลักคิดอย่างไร 4.การแทรกแซงเรื่องการเปลี่ยนแผนการเรียนอย่างกระทันหันของนิสิต เช่น นิสิตชั้นปีที่ 1 เรียนวิชา “ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นผิวโลกด้วยดาวเทียม” ทั้งที่ไม่มีความรู้ทางด้านพิกัดแผนที่ได้อย่างไร ส่วนนิสิตชั้นปีที่ 4 ภาคพิเศษ เรียนวิชา “Remote Sensing 2” ได้อย่างไร 5.ในวาระแรกของการดำรงตำแหน่งคณบดีคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ ปัญหาด้านสถานที่เรียนยังไม่ถูกแก้ไข เช่น ห้อง M 707 ที่มีปัญหาต่อการเรียนการสอน
6.การเตรียมความพร้อมด้านการสร้างตึกของคณะฯ ในปีที่ผ่านมา มีแผนการดำเนินงาน และงบประมาณการก่อสร้างอย่างไร และ 7.การเดินทางไปต่างประเทศของคณบดี มีการส่งเสริมสนับสนุนเกี่ยวกับการเรียนการสอนของคณะฯ อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร และใช้เงินงบประมาณนี้จากส่วนใด
นายสราวุฒิ เรียงกูร ตัวแทนนิสิตคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า ในการชี้แจงข้อสงสัยที่นิสิตต้องการฟังคำตอบ และเอกสารหลักฐานต่างๆ นั้น ทางคณบดีไม่สามารถนำมายืนยันหรือเตรียมข้อมูลที่นิสิตต้องการรับรู้รับทราบไม่ได้เลย ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อนิสิตที่ร่วมฟังคำชี้แจงในครั้งนี้
นอกจากนั้น ยังย้ำว่าการบริหารงานที่ผ่านมาดำเนินการอย่างถูกต้องทุกขั้นตอนโปร่งใส ซึ่งหากไม่ถูกต้องก็สามารถร้องเรียนต่ออธิการบดีของมหาวิทยาลัยบูรพา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อเข้ามาตรวจสอบได้ทันที และหากผิดก็พร้อมพิจารณาตัวเองต่อไป
นายสราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทางนิสิตได้มีแนวความคิดร่วมกันว่าจะทำหนังสือยื่นต่ออธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพาเพื่อพิจารณาปัญหาที่กลุ่มนิสิตเรียกร้องโดยด่วน เพราะขณะนี้กลุ่มนิสิตหมดความเชื่อถือในการบริหารที่คณะต่อไป และหลังจากยื่นเรื่องแล้ว พร้อมจะติดตามการดำเนินการของอธิการบดีเพื่อให้เกิดความชอบธรรมต่อนิสิตที่ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ด้วย