ศรีสะเกษ - มหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนายันการสวมมงกุฎกระดาษบนศีรษะไม่ผิดเพราะเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา แจงการสวมมงกุฎเป็นความภาคภูมิใจที่บัณฑิตสามารถศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษาปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี ชี้สถาบันอื่นเอาดอกไม้มาสวมบนศีรษะถ่ายรูปยังสามารถทำได้
เมื่อเวลา 21.00 น. วันนี้ (8 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาสวมมงกุฎกระดาษบนศีรษะของบัณฑิตและมหาบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ปีการศึกษา 2558 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า การสวมชุดครุยบัณฑิตจะต้องไม่มีสิ่งใดมาประดับในช่วงที่สวมชุดครุยเพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
ล่าสุดปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังสภามหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาระยอง กรณีมีผู้โพสต์ภาพของบัณฑิตมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาสวมมงกุฎกระดาษและมีภาพของอธิการบดีสวมมงกุฎให้แก่บัณฑิตด้วย โดยเห็นว่าเข้าข่ายผิดต่อกฎกระทรวงว่าด้วยการแต่งกายในพิธีรับปริญญา เบื้องต้นได้มีการตักเตือนไปยังสภามหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาก่อน เพราะการสวมเครื่องประดับบนศีรษะที่เกินเลยมาจากเสื้อครุยถือว่าไม่เหมาะสมและไม่อนุญาตให้ทำได้ เพราะพิธีประสาทปริญญาบัตรถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์นั้น
ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวุฒิเดช ทองพูล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เขต อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ และเป็นประธานสภาวัฒนธรรม อ.วังหิน ซึ่งเป็นมหาบัณฑิตคนหนึ่งที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ และได้สวมมงกุฎบนศีรษะในห้วงเวลาดังกล่าว ได้กล่าวว่า ตนในฐานะมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้สวมมงกุฎ เพราะมงกุฎที่สวมใส่เป็นโลโก้สัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นเฉลิมกาญจนา บ่งบอกถึงชัยชนะที่ได้สวมมงกุฎเป็นความภาคภูมิใจที่บ่งบอกถึงเกียรติยศ ศักดิ์ศรีแห่งการได้มาของมงกุฎ เพราะเป็นชัยชนะของมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษ ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา
นายวุฒิเดชกล่าวต่อไปว่า การสวมมงกุฎบนศีรษะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เป็นการกระทำที่ถูกต้องของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาที่ได้เอาสัญลักษณ์มงกุฎมาสวมบนศีรษะ เป็นการบ่งบอกถึงความสำเร็จ และชัยชนะของมหาบัณฑิตทุกคน ทุกมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาทั่วประเทศ การสวมมงกุฎเป็นสิ่งที่ดีงามและควรปฏิบัติสืบต่อไปทุกรุ่นทุกปีที่มีการพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการสวมมงกุฎให้แก่บัณฑิตและมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาทุกคนเป็นประจำทุกปี
ขณะที่สถาบันอื่นเอาดอกไม้มาสวมบนศีรษะถ่ายรูปยังสามารถทำได้ ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาเอามงกุฎมาสวมบนศีรษะให้แก่บัณฑิตทำให้พวกตนที่เป็นมหาบัณฑิตมีความภาคภูมิใจ และมงกุฎกระดาษเป็นของมหาวิทยาลัยแจกให้พวกตนสวมบนศีรษะ ทำให้พวกตนภาคภูมิใจและมีความสุขที่จบการศึกษาระดับมหาบัณฑิต
ทางด้าน ดร.ธนภัทร ส่งเสริม กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ศรีสะเกษ และเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ สถานีตำรวจปรือใหญ่ อ.ขุขันธ์ ซึ่งเป็นบัณฑิตคนหนึ่งที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา และได้สวมมงกุฎบนศีรษะด้วย กล่าวว่า ตนสำเร็จการศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต และได้ใช้ใบปริญญาบัตรระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอินเตอร์เนชันแนล อะคาเดมี ประเทศฟิลิปปินส์
ตนเห็นว่าการที่เข้ามาเป็นศิษย์มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วมีการสวมมงกุฎบนศีรษะนั้นเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา เป็นการแสดงถึงความภาคภูมิใจ สมัยก่อนผู้ที่จบปริญญาตรี หรือปริญญาโท อาจนำเอาดอกไม้หรือเถาวัลย์มาสวมบนศีรษะเพื่อเป็นการแสดงถึงความภาคภูมิใจ แต่ปัจจุบันเจริญขึ้นแล้วมีสิ่งต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ตนจึงภูมิใจในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ซึ่งการสวมมงกุฎนี้น่าที่จะมีการสืบต่อไปให้แก่บัณฑิตแต่ละรุ่น ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ไม่มีอะไรบ่งบอกถึงความเสียหายในเอกลักษณ์การสวมมงกุฎบนศีรษะครั้งนี้
ดร.ธนภัทรกล่าวต่อว่า การเอามงกุฎกระดาษหรือมงกุฎเพชรมาสวมบนศีรษะเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ถ้าเอามงกุฎเพชรมาให้มหาบัณฑิตทุกคนคงจะทำได้ยาก แต่สิ่งที่เราได้รับคือการเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ไม่ว่าจะเข้ามาสู่มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาในจุดนี้ การให้ความรู้ของคณาจารย์ การประสิทธิ์ประสาทวิชา การดำเนินชีวิตในอนาคตต่อไปส่งผลให้เราเจริญก้าวหน้าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหากศิษย์เก่ามาเจอกันเราจะได้ภาคภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเราเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนานี้เรายังสวมมงกุฎกระดาษด้วยกัน อนาคตอาจจะเป็นมงกุฎเพชรก็ไม่แน่
ตนมั่นใจว่าการสวมมงกุฎเพชรบนชุดครุยของบัณฑิตไม่เป็นความผิด เพราะเป็นการสวมสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยลงบนศีรษะของบัณฑิตและมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาทุกคน ซึ่งเป็นความสุขและเป็นความภาคภูมิใจที่เราสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปีมาอย่างต่อเนื่อง