ชัยนาท - หน้าสำนักงานชลประทานที่ 12 จัดกิจกรรม “น้อมรำลึก 7 กุมภาพันธ์ 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเปิดเขื่อนเจ้าพระยา”
วันนี้ (7 ก.พ.) นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานเปิดกิจกรรม “น้อมรำลึก 7 กุมภาพันธ์ 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเปิดเขื่อนเจ้าพระยา” บริเวณแท่นจารึกพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน้าสำนักงานชลประทานที่ 12 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท พร้อมนำ นายฎรงศ์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 นายเอกศิษฐ์ ศักดีธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนเจ้าพระยา ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างกรมชลประทาน กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ นายเบญจพล เปรมปรีดา นายบรรเจิด อนุเวช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 89 รูป ปล่อยปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทอง จำนวน 99,999 ตัว ลงในแม่น้ำเจ้าพระยา และมอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนยากจน จำนวน 12 คน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในการนี้ ยังได้มีการจัดเวทีเสวนาบุคคลผู้ร่วมสมัยในอดีต นำโดย คุณหญิงโฉมศรี กำภู ณ อยุธยา ภริยาอดีตอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมกับ คุณหญิงถนัด ปิติวงษ์ คุณหญิงจรูญ พุ่มวิเศษ และอดีตข้าราชการ อดีตลูกจ้างกรมชลประทาน ได้มาร่วมย้อนรำลึกความทรงจำเมื่อครั้งที่มีการก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยา และวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทรงเปิดเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2500
ทั้งนี้ เขื่อนเจ้าพระยา เป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่บริเวณคุ้งบางกระเบียน หมู่ที่ 3 ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ใช้ประโยชน์ด้านการชลประทาน การทดน้ำเพื่อการเกษตร โดยระบายน้ำจากแม่น้ำในภาคเหนือสู่ภาคกลาง และอ่าวไทย ส่งน้ำไปในพื้นที่เพาะปลูกภาคกลาง เข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่รวม 5 สาย คือ แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีน คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง คลองชัยนาท-ป่าสัก และคลองชัยนาท-อยุธยา