xs
xsm
sm
md
lg

คณะแพทย์ มช.เปิดตัวเครื่อง X-Ray รุ่นใหม่มูลค่ากว่าร้อยล้านเพิ่มศักยภาพตรวจวินิจฉัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คณะแพทยศาสตร์ มช.เปิดตัวทางการเครื่อง X-Ray คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงรุ่นใหม่ แห่งแรกในประเทศไทย มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ชูช่วยเพิ่มศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงคนไข้ได้รับผลกระทบจากรังสี รวมทั้งประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย เผยใช้ตรวจคนไข้แล้วกว่า 2,000 คน พบการทำงานได้ผลดีเยี่ยม

วันนี้ (5 ก.พ. 59) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นพ.วัฒนา นาวาเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. พร้อมด้วย Dr.Tobias M.seyfarth CEO บริษัท ซีเมนส์ เฮลท์แคร์ ประเทศไทย ร่วมกันเปิดตัวเครื่อง X-Ray คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง CT SOMATOM FORCE แห่งแรกในประเทศไทย มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท โดยมี ผศ.นพ.ธนพ ศรีสุวรรณ อาจารย์ประจำหน่วยรังสีวินิจฉัย และ ศ.พญ.พรรณี วิศรุตรัตน์ ร่วมสาธิตการใช้เครื่อง X-Ray คอมพิวเตอร์ดังกล่าว

ผศ.นพ.ธนพกล่าวว่า ปัจจุบันภาครังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงชนิด 2 หัวตรวจ รุ่นโซมาโตม ฟอร์ซ (SOMATOM FORCE) โดยได้เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ให้บริการตรวจผู้ป่วยไปแล้วมากกว่า 2,200 ราย ซึ่งคุณสมบัติของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รุ่นนี้ คือ ตัวเครื่องนั้นจะมีสองหัวตรวจในขณะที่เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วไปจะมีเพียงหัวตรวจเดียว ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วย

ในด้านความปลอดภัยจากรังสี ผู้ป่วยจะได้รับปริมาณรังสีจากการตรวจน้อยลงกว่าเดิม โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่จะต้องระวังเรื่องภัยจากรังสีมากกว่าผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยที่มีโรคไตหรือผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไตวายหลังจากการตรวจลดลง สามารถใช้ปริมาณรังสีที่ฉีดในปริมาณน้อยกว่าทั่วไปได้กว่าครึ่ง

ทั้งนี้ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงยังสามารถตรวจวิเคราะห์ในสิ่งที่ไม่เคยทำได้มาก่อน เช่นหลอดเลือดหัวใจในคนไข้ที่กลั้นหายใจไม่ได้ การทำงานของหัวใจห้องขวาล่าง เห็นการกำซาบของเลือดในปอดผู้ป่วยหายใจลำบาก การกำซาบของสมอง ในผู้ป่วยอัมพาตเฉียบพลัน ทำให้เพิ่มศักยภาพในการทำงานของแพทย์ให้กระชับขึ้น ผู้ป่วยปลอดภัยมากขึ้น เช่น ศักยภาพที่จะทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ได้โดยใช้ปริมาณรังสีต่ำมาก การตรวจหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยที่เจ็บหน้าอกแต่ตรวจด้วยวิธีอื่นๆ ไม่เจอ การตรวจผู้ป่วยอุบัติเหตุที่หายใจไม่ได้ การตรวจผู้ป่วยเด็กเล็กได้โดยไม่ต้องดมยาสลบ การตรวจอื่นๆ ซึ่งเดิมเคยต้องตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ต้องรอคิวยาวนาน สามารถนำมาตรวจได้ในเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่นี้เป็นต้น

นอกจากนี้ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงชนิด 2 หัวตรวจ ยังสามารถทำการวิเคราะห์ แยกส่วนประกอบของนิ่วหินปูน ส่วนประกอบของไขกระดูก วิเคราะห์การทำงานของหัวใจได้อย่างละเอียด สามารถวัดการทำงานของหัวใจห้องล่างขวาได้เพิ่มเติมจากเดิม ซึ่งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วไป ทำไม่ได้หรือทำได้ก็เฉพาะหัวใจห้องล่างซ้ายเท่านั้น เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่จะต้องระวังเรื่องภัยจากรังสีมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคไต หรือผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไตวายหลังจากการตรวจลดลงอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น