xs
xsm
sm
md
lg

“มันแกว” พืช ศก.ทนแล้ง ชาวธาตุพนมปลูกขายทำเงินสะพัดท้องถิ่นกว่า 50 ล้านบาท/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - เกษตรกรริมโขงอำเภอธาตุพนมเร่งเก็บมันแกวขายทำเงินเป็นกอบเป็นกำช่วงงานพระธาตุพนมกลางเดือน ก.พ.นี้ เผยเป็นพืชเศรษฐกิจทนภาวะแห้งแล้ง ทำเงินสะพัดในท้องถิ่นปีหนึ่งกว่า 50 ล้านบาท

ห้วงคาบเกี่ยวหน้าหนาวเข้าสู่หน้าแล้งในพื้นที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ได้มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยได้ยึดอาชีพปลูกมันแกวขายสร้างรายได้เสริมหน้าแล้งตามแนวริมตลิ่งแม่น้ำโขง ขณะนี้เกษตรกรหลายครอบครัวได้เร่งเก็บผลผลิตมันแกวเพื่อนำส่งขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อและนำไปวางขายริมทาง เพื่อรองรับงานนมัสการพระธาตุพนมที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 15-23 ก.พ. 59 นี้ ถือเป็นงานบุญประเพณีสำคัญที่ยิ่งใหญ่จะมีประชาชนนักท่องเที่ยวเดินทางมาทำบุญจำนวนมาก วันละกว่าแสนคน เป็นโอกาสดีที่ชาวบ้านท้องถิ่นจะมีรายได้จากการขายมันแกวในช่วงนี้ทุกปี

ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีเกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกมันแกวหวาน รวมกันแล้วปีละกว่า 1,000 ไร่ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างเงินหมุนเวียนสะพัดเข้าอำเภอธาตุพนมปีละเกือบ 100 ล้านบาท จะมีพ่อค้าแม่ค้าจากหลายพื้นที่ของภาคอีสานมาสั่งซื้อไปจำหน่ายจนเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ทัน

โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ไปจนถึงงานนมัสการองค์พระธาตุพนม ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

งานบุญใหญ่ดังกล่าวจะมีประชาชน นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ เดินทางมากราบไหว้ ทำบุญ ทำให้มันแกวหวานกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจ มีพ่อค้าแม่ค้านำมาตั้งร้านขายริมทางตลอดเส้นทางก่อนถึงตัวอำเภอธาตุพนม กลายเป็นของฝากสร้างเงินหมุนเวียนสะพัดทุกปี และเป็นสินค้าการเกษตรขึ้นชื่อประจำถิ่นที่ ประชาชน นักท่องเที่ยวจะต้องซื้อกลับไปเป็นของฝาก

ส่วนวิธีการปลูกนั้นเริ่มจากการไถพรวนดินทำแปลง ก่อนนำเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้มาหยอดลงตามหลุมในแปลง และใช้ดินกลบ หลังจากนั้นรดน้ำดูแลไม่ให้มีวัชพืชในช่วงแรก ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นต้นกล้ามันแกวจะโตตามธรรมชาติ และรดน้ำบางช่วงหากพื้นดินแห้งเกินไป จนกว่าจะสามารถเก็บผลผลิตได้ในระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน

ส่วนใหญ่จะเริ่มเก็บผลผลิตตั้งแต่ประมาณเดือนพฤศจิกายน และจะเก็บผลผลิตมากที่สุดในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมของทุกปี โดยจะมีการส่งขายเป็นสองส่วน คือ นำมาขายปลีกเป็นของฝากริมถนน และขายส่งให้พ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อไปส่งขายต่างจังหวัดอีกทอดหนึ่ง ที่สำคัญมันแกวหวานไม่เพียงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ดูแลง่าย ทำการปลูกเก็บผลผลิตได้ในระยะสั้นประมาณ 3-4 เดือน ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ขายง่าย เพียงขุดหัวมันแกวขึ้นมาจากใต้ดินก็สามารถนำไปส่งขายได้เลย ไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยาก แค่นำไปล้างทำความสะอาด ปอกเปลือกรับประทานได้เลย ซึ่งมันแกวที่ปลูกในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงจะมีจุดเด่น คือ มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย สามารถนำไปปรุงเป็นเมนูได้สารพัด อาทิ กินสดเป็นเหมือนผลไม้ รวมถึงนำไปทำเป็นเมนูได้หลายอย่างแล้วแต่ความชอบ อาทิ เมนูคล้ายยำสลัด และทำเป็นรูปแบบของของหวานได้ตามความชอบ

นายวันละ ยงโพธิ์ อายุ 39 ปี เกษตรกรชาวบ้านน้ำก่ำ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ยึดอาชีพเสริมปลูกมันแกวขายมานานกว่า 20 ปี ระบุว่า ในช่วงเดือนตุลาคม - เดือนธันวาคม และช่วงปีใหม่ของทุกปี เกษตรกรในพื้นที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม จะมีรายได้จากการขายมันแกว ริมทาง เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งจะเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตขุดหัวมันแกวขึ้นมาวางขายตามริมถนน และส่งขายต่างพื้นที่ ในราคามัดละ 20 บาท ไปจนถึงมัดละ 100 บาท ตามขนาด หรือขายในราคาส่งกิโลกรัมละประมาณ 10 บาท ซึ่งในเนื้อที่ 1 ไร่ จะมีต้นทุนประมาณ 15,000 บาท แต่จะสามารถขายได้ไร่ละ ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท

โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ไปถึงเทศกาลสงกรานต์ จะมีประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางไปมาจำนวนมากได้แวะซื้อไม่ขาดสาย แต่ขายดีที่สุดคือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ที่ตรงกับงานนมัสการองค์พระธาตุพนม เพราะจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศเดินทางมาท่องเที่ยวกราบไหว้องค์พระธาตุพนม 9 วัน 9 คืน จึงแวะซื้อชิมและนำกลับไปเป็นของฝากจนไม่พอขาย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี บางรายสามารถขายได้ปีละ 2-3 แสนบาททีเดียว เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่คนท้องถิ่นมานานกว่า 30 ปี แต่ละปีมีเงินหมุนเวียนจากการปลูกมันแกวขายปีละกว่า 50 ล้านบาท

“มันแกว” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “มันเพา” เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกได้ง่าย เหมาะปลูกในพื้นที่ดินร่วนปนทราย แถบริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยเฉพาะตามแนวตลิ่งที่น้ำโขงลดฤดูแล้ง เนื่องจากมีความชื้น ไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องดูแลยุ่งยาก แต่หากปีไหนน้ำไม่ท่วมริมตลิ่ง ชาวบ้านก็จะปลูกหมุนเวียนตลอดปี

มันแกวหวาน หรือมันเพา สามารถรับประทานได้แบบสดๆ เหมือนผลไม้ทั่วไป หรือนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารประเภท ยำ หรือสลัดก็ได้ ถือเป็นพืชการเกษตรภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ทำเงินให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ไม่แพ้พืชการเกษตรอีกหลายชนิด
กำลังโหลดความคิดเห็น