xs
xsm
sm
md
lg

“กำนันปรีชา” ทาสแมวรุ่นเดอะปฏิเสธเงิน 15 ล.ต่อลมหายใจแมวไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ทาสแมวรุ่นเดอะ “กำนันปรีชา พุคคะบุตร” แห่งบ้านแมวไทยอัมพวา ชายผู้ปฏิเสธเงิน 15 ล้านบาท เพื่อต่อลมหายใจแมวไทย ทำทุกอย่างเพื่อจดสิทธิบัตรให้คนไทยเป็นเจ้าของ “แมวศุภลักษณ์” หลังต่างประเทศเพาะพันธุ์จดสิทธิบัตรไปแล้วหลายชนิด หวั่นสมบัติชาติตกเป็นของคนอื่น

“แมว” มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ชมา” แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกกัน สัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมของมนุษย์ จนผู้เลี้ยงหลายๆ คน เรียกตัวเองว่า “ทาสแมว” ด้วยอุปนิสัยขี้เล่น ขี้อ้อน และเหตุผลต่างๆ นานา ทำให้ปัจจุบันทาสแมวเกิดขึ้นทั่วโลก สัตว์เลี้ยงตัวเล็กตัวนี้ถือได้ว่ามีบทบาทหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย หากย้อนไปถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 แมวไทยถือเป็นทูตวัฒนธรรม เนื่องจากพระองค์ทรงพระราชทานแมวไทยให้แก่ผู้แทนจากหลายๆ ประเทศ จนทำให้รู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ความชื่นชอบแมวในปัจจุบันนี้ สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในการเลี้ยงเป็นอย่างมากคงจะเป็นพวกสายพันธุ์ต่างประเทศ ทั้งเปอร์เซีย บริติชช็อตแฮร์ อเมริกันช็อตแฮร์ สกอตติซโฟลด์ และเอ็กซ์โซติก แต่แมวไทยซึ่งเคยได้รับหน้าที่พิเศษในการเป็นทูตวัฒนธรรมระหว่างประเทศกลับถูกหลงลืม หรืออาจจะมีส่วนน้อยที่หามาเลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน แต่อย่างไรก็ดี กำนันปรีชา พุคคะบุตร ผู้ดูแลศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ หรือบ้านแมวไทย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ถือเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่ยังต่อลมหายใจ และพยายามกอบกู้แมวไทยให้กลับมามีชื่อเสียงอย่างแท้จริงอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าแมวเป็นสมบัติของชาติ

กำนันปรีชา พุคคะบุตร ผู้ดูแลศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ หรือบ้านแมวไทย เล่าว่าแรกเริ่มเดิมทีคุณปู่ซึ่งเป็นผู้ที่ชื่นชอบแมวเป็นอย่างมาก ได้เริ่มเลี้ยงแมวไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2471 และตัวเองได้มาเลี้ยงต่อจากคุณปู่ในปี พ.ศ.2480 เนื่องด้วยแมวที่คุณปู่เลี้ยงเริ่มมีจำนวนมากและไม่มีคนเลี้ยงดูต่อ ด้วยความผูกพันจึงตัดสินดูแลรับช่วงแทนคุณปู่ โดยอดีตเคยมีแมวไทยสายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 10 ชนิด แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ชนิด ได้แก่ แมวสีสวาด แมววิเชียรมาศ แมวโกนจา แมวขาวมณี และแมวศุภลักษณ์ ซึ่งแต่ละชนิดมีลักษณะ และความแตกต่างกันดังนี้

1.แมวสีสวาด หรือแมวโคราช (Silver Blue) เป็นแมวที่มีลักษณะลำตัวเป็นสีหมอกเมฆ มีตาสีเหลืองเขียว มีถิ่นกำเนิดที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นแมวที่ใช้ในพิธีแห่นางแมวขอฝนในสมัยโบราณ

2.แมววิเชียรมาศ (Siamese) เป็นแมวที่มีลักษณะลำตัวเป็นสีครีม มีแต้มสีเข้มบริเวณใบหน้า และลำตัวรวม 9 แห่ง มีตาสีฟ้า เป็นแมวที่เลี้ยงไว้ในพระราชสำนัก จึงถือเป็นแมวนำโชคลาภที่คนโบราณนิยมเลี้ยง

3.แมวโกนจา หรือแมวดำปลอด หรือแมวดำมงคล (Bombay) เป็นแมวที่มีลักษณะลำตัวเป็นสีดำตลอดทั้งตัว ลักษณะการเดิน และการล่าเหยื่อเหมือนสิงโต ซึ่งคนโบราณมีมีความเชื่อว่าถ้าใครเลี้ยงแมววิเชียรมาศไว้ในครอบครองจะมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล

4.แมวขาวมณี หรือแมวขาวปลอด (Pure White) เป็นแมวที่มีลักษณะลำตัวเป็นสีขาวทั้งตัว ดวงตามีสีฟ้า สีเหลืองโดดเด่น บางตัวมีตา 2 สี เกิดในสมัยรัตนโกสินทร์ อุปนิสัยจะเป็นแมวที่มีความเชื่องเป็นอย่างมาก

5.แมวศุภลักษณ์ หรือแมวทองแดง (Copper) เป็นแมวที่ลักษณะลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มเหมือนทองแดงตลอดทั้งตัว ตาสีเหลืองเป็นประกาย เป็นแมวที่ได้รับความนิยมเลี้ยงเป็นอย่างมากในอดีต

กำนันปรีชา พุคคะบุตร ผู้ดูแลศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ หรือบ้านแมวไทย เล่าต่อว่า ปัจจุบันแมวไทยหลายชนิดถูกต่างประเทศนำไปจดสิทธิบัติแสดงความเป็นเจ้าของสายพันธุ์แล้วหลายชนิด ทั้ง แมววิเชียรมาศ ประเทศอังกฤษก็จดทะเบียนเป็น สยามมิสแคท หรือ Siamese เมื่อปี 2471 แมวสีสวาด สหรัฐอเมริกาก็จดสิทธิบัตรเมื่อปี 2509 ในชื่อ โคราชแคท หรือ Silver Blue และแมวโกนจา อินเดียก็จดสิทธิบัตรเป็นชื่อ แมวบอมเบย์ หรือ Bombay แล้วเช่นกัน แต่ยังค้นหลักฐานปีที่จดสิทธิบัตรไม่ได้
กำนันปรีชา พุคคะบุตร ผู้ดูแลศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ หรือ บ้านแมวไทย
“เคยมีตัวแทนจากเยอรมนีเดินทางมาเป็นคณะเลย มีนักวิชาการ และทีมสัตวแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาพูดคุยติดต่อขอซื้อแมวศุภลักษณ์ จำนวน 50 ตัว ด้วยราคา 15 ล้านบาท แต่มองว่าคงเป็นการซื้อสายพันธุ์ไปทำการจดสิทธิบัตร เพราะซื้อในปริมาณมาก และเคยติดต่อมาแล้วแต่ได้ปฏิเสธไป เราไม่เอา เราไม่เพาะพันธุ์ส่งให้ เพราะแมวไทยเป็นสมบัติของชาติ ถ้าขายเงิน 15 ล้าน เราก็ได้คนเดียว แต่ถ้าจดสิทธิบัตรเป็นของคนไทย คนไทยทุกคนก็ขายได้ เงิน 15 ล้าน อาจจะมองดูว่ามาก แต่สำหรับชื่อเสียงของประเทศแล้วไม่มากเลย” ผู้ต่อลมหายใจแมวไทย กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

กำนันวิเชียร ผู้ดูแลบ้านแมวไทยอัมพวา กล่าวด้วยว่า เคยมีการพูดคุยเรื่องการจดสิทธิบัตรแมวศุภลักษณ์ ต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กรมปศุสัตว์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาความเป็นรูปธรรม ต้องรวมตัวกัน ทุกฝ่ายต้องเห็นด้วยให้แมวศุภลักษณ์ได้จดสิทธิบัตร ถ้าไม่ทำก็ไม่มีใครทำ อนาคตจึงหวั่นว่าสมบัติของชาติจะตกเป็นของประเทศอื่น ในเรื่องนี้ทางภาครัฐไม่มีปัญหา โดยทาง คสช.หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็เห็นด้วยในความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ซึ่งก็ต้องรอกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น