กาญจนบุรี - ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ชี้การค้นพบแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเรื่องดี ควรแก่การศึกษา เชื่อพิษไม่ร้ายแรงอย่างที่ ปชช.จินตนาการ ขณะที่ “ผอ.กกส.สทพ.นทพ.” เตรียมแถลงข่าวพรุ่งนี้ 10.00 น.
ความคืบหน้ากรณีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกีฏวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) ค้นพบแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน แมงมุมในกลุ่มแมงมุมที่มีพิษร้ายแรงที่สำคัญของโลก ในพื้นที่โครงการ อพ.สธ. เขาวังเขมร อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
ล่าสุด เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (21 ม.ค.) อ.ดร.นสพ.มาโนชญ์ ยินดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เปิดเผยว่า การค้นพบแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับแมงมุม เพราะได้รับฟัง และเห็นจากภาพข่าว โดยรวมแล้วจากภาพข่าวก็ถือว่าเป็นแมงมุมชนิดใหม่ที่พบ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ และชำนาญการแยกชนิด หรือจำแนกแมงมุมก็คงจะตอบได้อย่างชัดเจ
แต่ว่าข้อเท็จจริงแล้วแมงมุมที่มีพิษในบ้านเรามีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มแม่ม่าย กลุ่มที่ 2 คือ แมงมุมสันโดษ ซึ่งมีการพบ และมีการรายงานบ้างประปรายแต่ไม่มากนัก เพราะโดยปกติแล้วแมงมุมที่มีพิษทั้ง 2 กลุ่ม ไม่ได้มีนิสัยที่ก้าวร้าว และชอบหลบตัวอยู่อย่างเงียบๆ ในที่มืด และที่แห้งๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น หากเราไม่เข้าไปใช้มือ หรือเท้าขุดคุ้ยหรือเข้าไปข้องเกี่ยวก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
อีกทั้งแมงมุมมีนิสัยชอบออกล่าเหยื่อในช่วงเวลากลางคืน ส่วนในช่วงเวลากลางวันแมงมุมจะแอบอยู่ในที่มืดตลอด ซึ่งเป้าหมายการออกล่าเหยื่อก็จะเป็นสัตว์ที่มีตัวขนาดเล็กมาก และโดยปกติแล้วเขี้ยวของแมงมุมแทบจะไม่มีความสามารถกัดผ่านผิวหนังของมนุษย์ได้ นอกเสียจากแมงมุมที่มีตัวขนาดใหญ่ และก็เป็นตัวเมียที่โตเต็มวัย
ส่วนแมงมุมตัวผู้ก็มีเขี้ยว แต่ขนาดลำตัวค่อนข้างเล็ก โอกาสที่จะกัดผ่านผิวหนังของมนุษย์จึงน้อยลง ซึ่งแมงมุมในกลุ่มแม่หม้าย และกลุ่มสันโดษ พิษของมันเป็นคนละประเภทกัน ภาพโดยรวมแล้วคนที่ถูกแมงมุมทั้ง 2 กลุ่มกัดแล้วได้รับพิษ และมีอาการน่าจะไม่ถึง 1 ใน 10 คน และเท่าที่มีการรายงานคนที่ถูกกัดจะมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น
“เพราะฉะนั้นการที่ค้นพบแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาใดๆ โดยเฉพาะเราก็ไม่ได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับแมงมุมบริเวณจุดที่ค้นพบอยู่แล้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักวิจัยที่เข้าไปสำรวจ ท่านเหล่านั้นมีความรู้ความชำนาญในการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี”
อ.ดร.นสพ.มาโนชญ์ ยินดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวต่อว่า แต่อย่างไรก็ตาม หากประชาชนท่านใดสงสัยว่าตนเองถูกแมงมุมกัดก็สามารถไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาจากการถูกแมงมุมกัดอยู่แล้ว แต่ในเบื้องต้น ขอให้ใช้น้ำเปล่าล้างจากนั้นก็ให้ประคบด้วยน้ำเย็น เพื่อกันไม่ให้พิษของแมงมุมเกิดการแอ็กทีฟมากนัก และที่ผ่านมา มีรายงานเข้ามาบ้างว่าคนที่มีอาการรุนแรง ซึ่งอาจจะเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน หรือคนที่มีอาการแพ้พิษจริงๆ เท่านั้น หรือไม่ก็เป็นเด็กเล็กที่มีผิวหนังค่อนข้างบางมากๆ ซึ่งพิษของแมงมุมไม่ได้เกิดอาการรุนแรงอย่างที่ประชาชนกำลังจินตนาการ ก็อยากให้ประชาชนเข้าใจตรงนี้ด้วย
“สำหรับการที่ค้นพบแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน ครั้งแรกของประเทศ ตรงจุดนี้ผมมองว่าถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ได้พบสิ่งมีชีวิตชิ้นใหม่ เพราะเราจะได้ศึกษาให้เข้าใจต่อธรรมชาติของเขา และนำไปสู่การอนุรักษ์ และนำไปสู่การอยู่ร่วมกันได้” อ.ดร.นสพ.มาโนชญ์ ยินดี กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า เวลาประมาณ 11.30 น.ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่กองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ตั้งอยู่ริมถนนสาย 323 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ที่ค้นพบแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อขออนุญาตเข้าไปสำรวจในพื้นที่ที่ค้นพบ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปแต่อย่างใด เนื่องจากวันพรุ่งนี้ (22 ม.ค.) ทาง พ.อ.เดชา พันธมิตร ผอ.กองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีค้นพบแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนอีกครั้งหนึ่งต่อไป