ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชอ่วม! แล้งเล่นงานหนัก พืชเกษตรสังเวยแล้วกว่า 4.6 แสนไร่ รวมสูญ 2,400 ล้าน เฉพาะนาข้าวเสียหายกว่า 4.3 แสนไร่ ร่วม 2,000 ล้าน เร่งเสนอรัฐบาลของบช่วย เผยเกษตรกร 8 อำเภอกว่า 20,000 ครอบครัวเดือดร้อนหนักขาดรายได้ รัฐช่วยเหลือจับฝึกอบรมอาชีพจ่ายเบี้ยเลี้ยงหัวละ 3,000 บาท ย้ำวอนชาวบ้านงดปลูกนาปรังเด็ดขาด
วันนี้ (21 ม.ค.) นายสมจิตร ธีระบุญชัยกุล เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย โดยล่าสุดจากสำรวจและรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ของ จ.นครราชสีมา พบว่ามีพื้นที่การเกษตรประสบภัย 8 อำเภอ ได้แก่ อ.ขามสะแกแสง, คง, บัวลาย, แก้งสนามนาง, โนนไทย, โนนสูง, ด่านขุนทด และเทพารักษ์ มีพืชเกษตรประสบภัยรวม 446,222 ไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปี 434,986 ไร่ พืชไร่ 11,210 ไร่ และ พืชสวน/อื่นๆ 26 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2,400 ล้านบาท
ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากภัยแล้ง ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2558 ถึงขณะนี้ แยกเป็นผลกระทบดังนี้ 1.นาข้าว 434,986 ไร่ ปริมาณผลผลิต 195,743.7 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,957.44 ล้านบาท, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 11,210ไร่ ปริมาณผลผลิต 44,840 ตัน คิดเป็นมูลค่า 358.72 ล้านบาท พริก และอื่นๆ 26 ไร่ ปริมาณผลผลิต 38.98 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.34 ล้านบาท ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดฯ ได้สรุปความเสียหายทั้งหมดเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเพื่อเสนอรัฐบาลขออนุมัติงบประมาณให้ความช่วยเหลือต่อไป
สำหรับการให้ความช่วยเหลือขณะนี้ได้สั่งการให้เกษตรอำเภอในพื้นที่ 8 อำเภอ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 20,000 ครอบครัว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพราะขาดรายได้ โดยในเขตพื้นที่นาไม่เหมาะสม เช่น นาดอน และนานอกเขตชลประทาน แนะนำเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวเป็นอ้อยโรงงานในนา ส่วนในเขตพื้นที่นาที่ที่มี่ความชื่นหรือน้ำไม่มาก แนะนำเกษตรกรให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในนา ถั่ว เขียว ถั่วลิสง และอื่นๆ
ส่งเสริมการปลูกพืชปุ๋ยสุดในเขตพื้นที่นาไม่เหมาะสม เช่น นาดอน และนานอกเขตชลประทาน แนะนำให้ปลูกปอเทือง และถั่วพร้า เพื่อผลิตเม็ดพันธุ์ ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น แตกกวา ข้าวโพดหวาน ฟักทอง พืชผักต่างๆ
ส่วนพื้นที่ที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้เพราะไม่มีน้ำ แนะนำให้เกษตรกรเสนอจัดทำแผนพัฒนาอาชีพตามความต้องการของเกษตรกร เพื่อสร้างรายได้ในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ โครงการที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงานโครงการเลี้ยงปศุสัตว์ขนาดเล็ก เช่น เป็ดเนื้อ ไก่ไข่ เป็นต้น หรือโครงการเลี้ยงปลาในบ่อขนาดเล็กและการเพาะเห็นนางฟ้า-เห็ดฟาง เป็นต้น
นายสมจิตรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลมีโครงการอบรมอาชีพเสริมให้เกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ภายใต้โครงการ “อบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพและการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 และจากปัญหาคาสินค้าเกษตร” โดย จ.นครราชสีมา มีเป้าหมายเกษตรกรจำนวน 20,000 รายในพื้นที่ 8 อำเภอ นำมาอบรมเป็นเวลา 15 วัน จ่ายเบี้ยเลี้ยงวันละ 200 บาท หากจบหลักสูตรเกษตรกรจะมีรายได้หัวละ 3,000 บาท ซึ่งรัฐบาลต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ได้
“อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดปลูกข้าวนาปรังอย่างเด็ดขาด เพราะน้ำปีนี้มีน้อยและอาจไม่ได้ผลผลิต จะสร้างความเดือดร้อนเสียหายตามมาอีก” นายสมจิตรกล่าว