xs
xsm
sm
md
lg

หอค้าโคราชเต้น จี้เปิดประชุม “กรอ.” ด่วน ถกรับมือโรงงานปิด ลอยแพแรงงาน-สินค้าเกษตรดิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - หอการค้าโคราชเต้นจี้จังหวัดเปิดประชุม กรอ.ด่วน ถกรับมือโรงงานปิดตัวลอยแพแรงงานและสินค้าเกษตรผลผลิตลดฮวบจากภัยแล้งต้องพยุงราคา ยอมรับภาวะเศรษฐกิจไม่ดีและมีเรื่องร้ายซ้ำเติม โรงงานเริ่มทยอยปิดตัวเชื่อเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี รายใดแข่งขันไม่ได้ต้องปิดตัวเอง เผยแม้จ้างงานลด แต่มีโรงงานเปิดใหม่อีก 10 แห่ง เม็ดเงินลงทุนเพิ่มจากปีที่แล้วกว่า 5 พันล้าน

วันนี้ (26 ส.ค.) นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนและการจ้างงานใน จ.นครราชสีมา ว่าต้องยอมรับว่าสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีและตอนนี้มีข่าวไม่ดีออกมาต่อเนื่อง อัตราเร่งที่มองเห็นและมีแนวโน้มชัดเจนคือตลาดแรงงานที่เริ่มมีปัญหา เพราะโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มปิดตัวมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่แข่งขันไม่ได้ แต่จะเห็นได้ว่ามียังโรงงานที่เปิดตัวใหม่เช่นกัน

ทั้งนี้ จากตัวเลขของอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมารายงานสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรม ระบุว่า ในเดือน ก.ค. 2558 มีโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งหมดจำนวน 2,645 โรงงาน เงินลงทุน 188,117.95 ล้านบาท คนงาน 146,516 คน ขณะที่เดือน ก.ค. 2557 มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 2,659 โรงงาน เงินทุน 182,595.87 ล้านบาท คนงาน 146,904 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้วดังกล่าว พบว่าในเดือน ก.ค. 2558 มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมลดลง 14 โรงงาน คิดเป็น 0.53% แต่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 5,522.08 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 3.02% จำนวนคนงานลดลง 388 คน คิดเป็น 0.26 %

อีกทั้งเฉพาะในเดือน ก.ค. 2558 มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่ 10 โรงงาน เงินลงทุน 712.57 ล้านบาท คนงาน 330 คนขณะที่ เดือน ก.ค. 2557 มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่ 5 โรงงาน เงินลงทุน 213.71 บาท คนงาน 149 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจำนวนโรงงานตั้งใหม่และการจ้างงาน

หากดูจากตัวเลขข้างต้นจะพบว่า ณ เดือน ก.ค.ปีนี้ มีโรงงานและการจ้างงานลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจำนวนไม่มาก แต่เงินลงทุนกลับเพิ่มขึ้นอีก 5,522 ล้านบาท ซึ่งต้องย้ำว่า โรงงานที่ปิดตัวไปนั้นเป็นโรงงานที่แข่งขันในตลาดไม่ได้จริงๆ ในขณะเดียวกันก็มีโรงงานใหม่ที่มีเงินลงทุนสูงขึ้น และตอนนี้เป็นช่วงการถ่ายโอนเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ โรงงานเองกำลังปรับตัวเพราะโลกมีการแข่งขันสูงขึ้น

“ในปีนี้แม้ว่าโคราชจะมีการปิดตัวของโรงงานไปแล้วถึง 25 แห่ง แต่มีโรงงานใหม่ๆ เข้ามาทดแทน และข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เม็ดเงินลงทุนกลับสูงขึ้น ฉะนั้นเรามองว่าจังหวัดนครราชสีมายังเป็นฐานการลงทุนที่จะมีนักลงทุนเข้ามาอีกจำนวนมาก” นายหัสดินกล่าว

นายหัสดินกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดทางหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาได้ทำหนังสือถึงสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมา (กรอ.นม.) โดยด่วน ในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้ โดยจะเสนอใน 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องการพิจารณาเกี่ยวกับการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมบางโรงงาน เพราะถือว่าความเดือดร้อนของคนงานมีส่วนสำคัญ ซึ่งตนมองว่าสำนักงานจัดหางานจังหวัด จะต้องทำงานเชิงรุกโดยการเข้าไปติดต่อกับโรงงานซึ่งรู้อยู่แล้วว่ากำลังจะปิดตัวตามที่ประกาศ โดยต้องมองว่าคนงานเหล่านี้จะไปทำอะไรต่อ และโรงงานที่สร้างใหม่ที่ต้องการแรงงานจะได้มีแรงงานเข้าไปรองรับเลย ซึ่งถือเป็นการทำงานเชิงรุก

“ไม่ใช่ว่าปล่อยให้โรงงานปิดตัวแล้วคอยให้คนงานไปแจ้งการว่างงาน แล้วจึงไปหาโรงงานใหม่หรือแหล่งจ้างงานใหม่ให้เหมือนที่ผ่านมา แต่จากนี้ไปต้องทำงานเชิงรุกว่าโรงงานใหม่มีกี่แห่ง ต้องการแรงงานจำนวนเท่าไร เพื่อให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง ไม่ให้แรงงานเสียเวลาไปกับการตกงานใช้เงินเก็บจนหมด ต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบมาใช้จ่าย”

ส่วนข้อที่ 2 ที่ต้องการให้ กรอ.หารือกัน คือ เรื่องสินค้าเกษตร ต้องยอมรับว่าภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกร จะทำให้ได้ผลผลิตน้อยลงกว่าทุกปี หากรัฐบาลไม่มีมาตรการเข้าไปพยุงราคาสินค้าเกษตรอาจทำให้กำลังซื้อของเกษตรกร ซึ่งกลุ่มใหญ่ที่สุดยิ่งตกต่ำลงไปอีก ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามกระตุ้นอย่างไรก็ไม่เป็นผล

“จึงอยากเรียกร้องไปทางเกษตรจังหวัด และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ให้รายงานภาพรวมของผลผลิตทางการเกษตรว่าจะลดลงมากน้อยไหน และราคามีแนวโน้มเป็นอย่างไร เพื่อทำงานร่วมกันในเชิงรุก หากมีปัญหาจะได้สรุปและนำเสนอต่อไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการช่วยเหลือทันท่วงที” นายหัสดินกล่าวในตอนท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น