ชัยนาท - ผู้ว่าฯ ชัยนาท นำเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานจัดเตรียมสถานที่ต้อนรับนายกฯ และคณะที่จะลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่อำเภอหนองมะโมง วันพรุ่งนี้ ขณะที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยล่วงหน้า
วันนี้ (21 ม.ค.) นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ได้นำเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานลงพื้นที่จัดเตรียมสถานที่ที่บริเวณโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ เนื้อที่ 400 ไร่ บริเวณหมู่ 7 บ้านหนองดู่ ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท เพื่อเตรียมความพร้อมให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่ อ.หนองมะโมง พร้อมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเวลา 14.00 น.วันพรุ่งนี้ (22 ม.ค.)
ทั้งนี้ ในเวลา 12.30 น.วันเดียวกันนี้ นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปที่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ เพื่อตรวจดูการเตรียมความพร้อมในการรองรับการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี เริ่มจากจุดลงจอดเฮลิคอปเตอร์ที่นายกรัฐมนตรี ใช้เป็นพาหนะเดินทางมาจากจังหวัดนครสวรรค์ มีการซักซ้อมขบวนรถรับนายกฯ มายังบริเวณโครงการ
ส่วนด้านการรักษาความปลอดภัยนั้นมีการเตรียมกำลังทหาร และตำรวจกว่า 300 นาย คอยดูแลความปลอดภัยทั้งในบริเวณโครงการฯ และรอบนอก ส่วนทางด้านศูนย์ ปภ.เขต 16 ชัยนาท ได้นำเรือท้องแบนลงภายในสระหนองดู่ เพื่อเตรียมความพร้อม และป้องกันเหตุ
ขณะที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยนาท ได้บูรณาการร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมสำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหนองมะโมง จะมีการตั้งหน่วยรับเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนจากประชาชน
นายอภิชาติ ศรีม่วง นายอำเภอหนองมะโมง กล่าวว่า ทางอำเภอได้จัดเตรียมพื้นที่ให้การต้อนรับคณะนายกรัฐมนตรีไว้เรียบร้อยแล้ว มีที่รองรับรถยนต์ จำนวน 500 คัน และสถานที่รองรับประชาชน จำนวน 2,000 คน ที่จะเดินทางมาให้การต้อนรับ และพบปะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี
ส่วนการร้องขอความช่วยเหลือของประชาชนในพื้นที่มีความต้องการแหล่งเก็บน้ำแบบเบ้าขนมครก ขนาดพื้นที่ 2 ไร่ กระจายเต็มพื้นที่ 41 หมู่บ้าน เพื่อจะได้มีน้ำใช้เพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย นอกจากนี้ ยังต้องการให้ปรับปรุงถนนในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นถนนลูกรังให้เป็นถนนราดยางเพื่อสะดวกต่อการขนส่งสินค้าเกษตร