ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ตะลึง! พบไดโนเสาร์โคราชสายพันธุ์ใหม่ของโลก อายุ 115 ล้านปีก่อน สมเด็จพระเทพฯ มีพระราชานุญาตให้ใช้พระนามเป็นชื่อสกุลของไดโนเสาร์ “สิรินธรน่า” ชื่อชนิด “โคราชเอนซิส” ด้านนักวิจัยญี่ปุ่นชี้การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก และไดโนเสาร์ที่พบใหม่นี้เป็นต้นกำเนิดของอิกัวโนดอนต์ของโลก โดยพบชิ้นส่วนรุ่นสุดท้ายที่ประเทศจีน
วันนี้ (20 ม.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และ ศ.ดร.โยอิชิ อะซูมา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยจังหวัดฟูกุอิ และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมทีมนักวิจัย ร่วมกันแถลงข่าวการพบไดโนเสาร์โคราชพันธุ์ใหม่ของโลกที่บ้านสะพานหิน ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ผศ.ดร.ประเทือง จิตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในวโรกาส 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามของพระองค์เป็นชื่อสกุล คือ “สิรินธรน่า” ได้ ส่วนชื่อชนิดใช้ชื่อ “โคราช” แหล่งพบ คือ “โคราชเอนซิส”
สำหรับผลการวิจัยครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือขุดสำรวจไดโนเสาร์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในแหล่งดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ฟอสซิลที่ทำการวิจัย ประกอบด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก ขากรรไกรบนล่าง ฟันและอื่นๆ จากชั้นหินกรวดมนปนปูน ในหมวดหินโคกกรวด อายุประมาณ 115 ล้านปีก่อน ระบบนิเวศเป็นแบบกึ่งแห้งแล้ง โดยอิกัวโนดอนต์สิรินธรน่า มีความแตกต่างจากอิกัวโนดอนต์ 2 สกุล ที่พบใน จ.นครราชสีมา มาก่อน คือ สกุลราชสีมาซอรัส และสยามโมดอน เช่น มีขากรรไกรล่าง ที่มีอัตราส่วนระหว่างความยาวและความสูงน้อยกว่าราชสีมาซอรัส หรือมีขากรรไกรบนทรงต่ำหรือลาดเอียงมาก กว่าสยามโมดอน เป็นต้น
ผศ.ดร.ประเทืองกล่าวอีกว่า “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส” (Sirindhorna khoratensis) เป็นไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ จัดเป็นไดโนเสาร์ประเภทกระดูกสะโพกแบบนก กินพืช และอยู่ในกลุ่มย่อยที่มีหัวแม่มือเป็นเดือยแหลมของกลุ่มใหญ่อิกัวโนดอนต์ อายุประมาณ 115 ล้านปีก่อน ความยาว 6 เมตร ความสูงระดับสะโพก 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 1 ตัน ต่างจากไดโนเสาร์กินพืชพวกซอโรพอดหรือพวกคอยาวหางยาว ที่มีกระดูกสะโพกแบบสัตว์เลื้อยคลาน ไดโนเสาร์ในกลุ่มอิกัวโนดอนต์นี้ พบมากกว่า 60 สกุล เพราะมีวิวัฒนาการต่อเนื่องกันมานับ 100 ล้านปี และพบกระจายกว้างขวางทั่วโลก
ลักษณะเด่นของอิกัวโนดอนต์ คือ มีฟันคล้ายฟันอิกัวน่า แต่มีขนาดใหญ่กว่ากันมาก ไม่มีฟันในส่วนหน้าของขากรรไกรบน-ล่าง แต่มีจงอยปากที่เป็นกระดูกแข็งแทน ขาหลังแข็งแรง ใหญ่และยาวกว่าขาหน้า จึงเป็นไดโนเสาร์ที่วิ่งได้เร็วด้วย 2 เท้า แต่เวลาเดินหรือแทะเล็มกินใบไม้ยอดไม้ระดับต่ำ จะเดินด้วย 4 เท้า อาจแบ่งได้เป็น 2 พวกย่อย คือ 1.พวกที่มีหัวแม่มือเป็นเดือยแหลม ไว้ป้องกันตัวหรือแกะเมล็ดไม้ที่มีเปลือกแข็ง เช่น อิกัวโนดอน โปรแบคโตรซอรัส และ 2. พวกที่มีหงอนบนหัว เช่น พาราซอโรโลฟัส
ด้าน ศ.ดร.โยอิชิ อะซูมา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยจังหวัดฟูกุอิ และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลก “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส” ที่ค้นพบครั้งนี้ถือว่าใช้เวลาในการศึกษายาวนานกว่า 10 ปีจึงสำเร็จ เนื่องจากชิ้นส่วนที่พบค่อนข้างเล็ก กระจัดกระจายกัน จึงทำให้ต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก ไม่เหมือนแหล่งขุดค้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เพราะภูมิศาสตร์ และลักษณะธรณีวิทยาแตกต่างกันซึ่งที่นั่นจะพบเป็นชิ้นส่วนใหญ่ๆ ใช้เวลาค่อนข้างน้อย
แต่คุ้มค่ากับการค้นพบอย่างมาก เพราะไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่นี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของไดโนเสาร์สกุลอิกัวโนดอนที่ค้นพบในโลกนี้ โดยการค้นพบที่ประเทศจีนเป็นไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์รุ่นสุดท้ายก่อนการสูญพันธุ์ แต่การค้นพบที่ จ.นครราชสีมา บอกได้ว่าที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดของสายพันธุ์ไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ ฉะนั้นจึงถือว่ามีความสำคัญมาก สำหรับการศึกษาต่อไปจะมีการศึกษาระบบสมองในกะโหลกเพื่อให้ทราบวิวัฒนาการของมัน ถือว่าตัวนี้มีความสำคัญมากๆ ตัวที่พบอายุประมาณ 120 ล้านปี อยู่ยุครีเทเชียส