xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ห่วง 8 จว.เหนือจ่อเข้าช่วงวิกฤตหมอกควัน เตือนเตรียมพร้อมป้องกันตัวรักษาสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายแพทย์สุรพันธ์ แสงสว่าง ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - แพทย์ชี้ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนจ่อเข้าช่วงประสบปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และมลพิษอากาศอย่างรุนแรงประจำปีระหว่าง ก.พ.-เม.ย. เตือนประชาชนเตรียมพร้อมป้องกันตัวและรักษาสุขภาพ ระบุฝุ่นละอองขนาดเล็กมีสารมลพิษปนเปื้อนหลายชนิด รวมทั้งสารก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบล้มป่วยสารพัดโรค วอนประชาชนและเกษตรกรมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคมด้วยการงดเผา

นายแพทย์ สุรพันธ์ แสงสว่าง ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.ของทุกปี พื้นที่จังหวัด 8 ภาคเหนือตอนบนมักจะประสบปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และมลพิษอากาศอย่างรุนแรง สาเหตุเนื่องจากการเผา ทั้งการเผาพื้นที่การเกษตร การเผาป่า และการเผาในที่โล่งทุกชนิด ประกอบกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นที่ลุ่มล้อมรอบด้วยภูเขาสูง ทำให้หมอกควันจากการเผามีการสะสมและรุนแรงกว่าปกติ

ทั้งนี้ ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และมลพิษอากาศที่เกิดขึ้นนั้น นายแพทย์ สุรพันธ์ระบุว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้คนในพื้นที่อย่างมาก ทั้งระบบตา ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ และระบบผิวหนัง เนื่องจากเขม่า ฝุ่นขนาดเล็ก และก๊าซมลพิษที่อยู่ในหมอกควันทำให้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบ ไอ หายใจลำบาก แสบตา และคันตามผิวหนัง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุทำให้ผู้ที่ป่วยโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดหัวใจ มีอาการกำเริบด้วย

ขณะเดียวกัน ผลจากการสูดหายใจรับฝุ่นละอองและสารปนเปื้อนต่างๆ ที่อยู่ในหมอกควันเข้าไปสะสมในร่างกายยังมีผลต่อการทำงานของปอด กล้ามเนื้อหัวใจ และหลอดเลือดสมองด้วย ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่ป่วยเกี่ยวกับระบบดังกล่าว โดยที่กลุ่มเสี่ยงมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมด้วย เช่น หญิงตั้งครรภ์ ที่ได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กและสารปนเปื้อนจากหมอกควันเป็นเวลานานอาจมีผลต่อการส่งต่อออกซิเจนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ ทำให้น้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าปกติ

ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่กล่าวว่า ข้อมูลจากการวิจัยพบว่าในฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มาพร้อมกับปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และมลพิษอากาศมีสารมลพิษหลายชนิดปนเปื้อนอยู่ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ รวมทั้งสารก่อมะเร็งด้วย ซึ่งทำให้ผู้สูดหายใจรับเอาสารดังกล่าวเข้าไปสะสมในร่างกายมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากสารมลพิษดังกล่าวได้

จากสถิติพบว่าภาคเหนือมีผู้ป่วยมะเร็งสูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับปัญหานี้ก็เป็นได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยงการรับเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย

สำหรับแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตัวเองนั้น นายแพทย์ สุรพันธ์กล่าวว่า ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ เบื้องต้นควรใช้หน้ากากอนามัย ผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก ปิดจมูกและสวมแว่นตาทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการออกทำกิจกรรมนอกอาคาร และมีการปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดเพื่อป้องกันฝุ่นควัน

ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กเล็ก คนชรา หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคหัวใจ โรคปอด ต้องระวังป้องกันตัวเป็นพิเศษ หากมียาโรคประจำตัวให้เตรียมไว้ให้พร้อมเผื่อกรณีโรคกำเริบ และให้รีบพบแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติ

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่กล่าวด้วยว่า อยากขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนทั้งหมดในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการไม่มีส่วนซ้ำเติมสถานการณ์หรือเพิ่มปริมาณหมอกควัน โดยการงดเผาขยะ เศษกิ่งไม้ ใบไม้ รวมทั้งงดจุดธูปเทียนและสูบบุหรี่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดเผาเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร, เผาป่า, เผาขยะหรือเผาหญ้า เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองและลดผลกระทบต่อสุขภาพ
สภาพหมอกควันปกคลุมตัวเมืองเชียงใหม่ในช่วงปีที่ผ่านๆ มา(ภาพจากแฟ้ม)
นักท่องเที่ยวต้องสวมหน้ากากปิดปากปิดจมูกป้องกันตัวเองในช่วงสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน(ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น