ตาก/สุโขทัย - ภัยแล้งยังคงลุกลามเป็นปัญหาใหญ่หลายพื้นที่ แหล่งต้นน้ำแม่สอดเริ่มแห้งขอด จนฝ่ายปกครองหวั่นเกิดศึกแย่งน้ำหน้าแล้ง ต้องนิมนต์พระสงฆ์สอนชาวบ้านประหยัดน้ำ-สร้างฝายมีชีวิต ขณะที่ไร่อ้อยสุโขทัยแห้งตาย เกษตรกรขาดทุนยับ บางรายต้องออกรับจ้างล้างจานหาเงินใช้หนี้-ส่งลูกเรียน
วันนี้ (20 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้แหล่งต้นน้ำสำคัญบนดอยที่ใช้หล่อเลี้ยงประชาชนในเขตแม่สอด จ.ตาก แห้งขอดและลดปริมาณอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายหมู่บ้านที่ส่วนใหญ่ทำอาชีพทางการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ จนมีแนวโน้มเกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำขึ้นแล้ว
ล่าสุดนายธนยศ ปานขาว นายอำเภอแม่สอด พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ได้เชิญผู้นำท้องถิ่นในทุกหมู่บ้าน ทั้งที่อยู่ต้นน้ำ และปลายน้ำ ให้มาร่วมฟังคำชี้แจงพร้อมจัดระเบียบการใช้แหล่งน้ำร่วมกัน เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งชิงน้ำที่กำลังเกิดขึ้นในหลายท้องที่
โดยนิมนต์พระมหานวปฎล กุสลญาโณ เจ้าอาวาสวัดโพธิคุณ หมู่ 6 ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นวัดบนดอยสูง และเป็นแหล่งต้นน้ำใช้ธรรมะสั่งสอนแนะนำการใช้น้ำอย่างประหยัดและร่วมกันสู้วิกฤตภัยแล้ง จนชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจ และยินยอมที่จะปฏิบัติตามแนวทางของพระสงฆ์
จากนั้นนายอำเภอแม่สอด พร้อมชาวบ้าน และส่วนราชการกว่า 200 คน ได้เดินเท้าเข้าไปสร้างฝายมีชีวิต ชะลอและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง โดยวางแผนจะเร่งดำเนินการให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ในป่าแหล่งต้นน้ำให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้
ส่วนที่สุโขทัย ภัยแล้งยังคงคุกคามขยายวงมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรที่ปลูกอ้อย โดยเฉพาะไร่อ้อยที่ปลูกกันในพื้นที่หมู่ 4 หมู่ 6 หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 หมู่ 10 หมู่ 11 และหมู่ 12 ต.นาขุนไกร อ.ศรีสำโรง กว่า 5,000 ไร่ ยืนต้นแห้งตายไปแล้วกว่า 90% ทำให้เกษตรกรต้องขาดทุนรวมกันเกือบ 40 ล้านบาท
นายจำเนียร กลาดเกลื่อน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาขุนไกร เปิดเผยว่า ชาวไร่อ้อยทั้ง 8 หมู่บ้าน ต.นาขุนไกร ได้รับความเดือดร้อนกันหนักมาก หลังจากฝนทิ้งช่วงยาวนาน แหล่งน้ำในพื้นที่แห้งขอด ทำให้ต้นอ้อยขาดน้ำเหี่ยวแห้งตายแล้วกว่า 90% ชาวไร่ขาดทุนกันทุกราย ส่วนตนเองมีปลูกไว้ 500 ไร่ แต่เก็บผลผลิตขายได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ขาดทุนมากกว่า 2 ล้านบาท
“ภัยแล้งปีนี้รุนแรงมาก ทุกปีเคยปลูกอ้อยได้กำไร แต่ปีนี้ขาดทุนกันหมด จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือบ้าง เพราะเกษตรกรหมดหนทางที่จะหาเงินใช้หนี้คืนแล้ว” นายจำเนียรกล่าว
นายเสนาะ ทองสุข อายุ 59 ปี เกษตรกรหมู่ 8 ต.นาขุนไกร เปิดเผยว่า ตนปลูกอ้อยทั้งหมด 70 ไร่ เพิ่งเริ่มปลูกเป็นปีแรกก็ขาดทุน และกลายเป็นหนี้ทันทีกว่า 400,000 บาท เพราะเจอสภาพอากาศแล้งทำให้อ้อยยืนต้นแห้งตายเกือบหมด ตอนนี้คนในครอบครัวเครียดมากเพราะไม่รู้จะหาเงินจากที่ไหนไปใช้หนี้
ด้านนางบังเอิญ ชัยรัตน์ อายุ 61 ปี บ้านเลขที่ 76/3 หมู่ 6 ต.ไทยชนะศึก อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย เปิดเผยว่า ในพื้นที่ อ.ทุ่งเสลี่ยมก็มีไร่อ้อยเสียหายจากภัยแล้งจำนวนหลายร้อยไร่เช่นกัน สำหรับตนปลูกไว้ 30 ไร่ก็เจอแล้งแห้งตายไป 15 ไร่ เหลือ 15 ไร่เก็บขายได้ก็ยังขาดทุน 100,000 กว่าบาท ตอนนี้จึงต้องออกมาหางานรับจ้างล้างจานในตัวเมืองสุโขทัยเพื่อหาเงินใช้หนี้ และส่งให้ลูกเรียนหนังสือด้วย
ขณะที่ พล.ต.ทรงวุฒิ จิตตานนท์ ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบ กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมดูการซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำบาดาล ตามโครงการคนไทยหัวใจเดียวกัน ที่บ้านดงไทย หมู่ 2 ต.นาทุ่ง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ซึ่งชาวบ้านร้องเรียนว่าเครื่องสูบน้ำบาดาลชำรุดเสียหาย ทำให้เดือดร้อนกันทั้งหมู่บ้าน ทางกองกำลังรักษาความสงบ กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 จึงส่งเจ้าหน้าที่ทหารมาช่วยซ่อมแซมจนใช้งานได้ตามปกติ
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบ กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 ก็ได้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมด้วยนักเรียน นักศึกษาวิชาทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. และนายอำเภอศรีสัชนาลัย ทำการพัฒนาแหล่งน้ำโดยกำจัดผักตบชวา และวัชพืชต่างๆ ในคลองแม่ท่าแพ ที่เป็นคลองสายหลักของหมู่บ้านอีกด้วย