xs
xsm
sm
md
lg

วางพวงมาลาวันกองทัพไทย “อุทยานราชภักดิ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - ศูนย์การทหารราบ จัดพิธีถวายราชสักการะ และถวายพวงมาลาพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในโอกาสวันกองทัพไทย ณ อุทยานราชภักดิ์ เป็นครั้งแรก

วันนี้ (18 ม.ค.) พล.ต.ดนัย กฤตเมธาวี ผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ เป็นประธานในพิธีถวายราชสักการะ และถวายพวงมาลาพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในโอกาสวันกองทัพไทย ประจำปี 2559 ซึ่งในปีนี้กำหนดจัดขึ้นที่อุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นครั้งแรก ร่วมด้วย นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พล.ต.สัญญา จันทร์สงวน ผู้บัญชาการโรงเรียนนายสิบทหารบก พล.ต.ต.กษณะ แจ่มสว่าง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ น.ส.พรพิมล โสจิรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหัวหิน ผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงของศูนย์การทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 15 หน่วยงานราชการ และองค์กรต่างๆ

ตลอดจนนักเรียนนายสิบทหารบกเข้าร่วมพิธีกว่าพันคน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของอดีตวีรมหากษัตริย์ และเหล่าทหารที่ได้เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องรักษาอธิปไตย และแผ่นดินไทยให้ดำรงความเป็นชาติที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นมรดกตกทอดตราบจนทุกวันนี้ พร้อมทั้งเป็นการย้ำเตือนให้ทหารทุกคนได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่เพื่อประเทศชาติ และประชาชน

สำหรับ “วันกองทัพไทย” เป็นวันที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็นวันกองทัพไทยตามการคำนวณจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ.954 คำนวณได้ตรงกับวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1593 หรือ พ.ศ.2135 แบบ พ.ศ.ราชการ หรือ พ.ศ.2136 แบบ พ.ศ.มาตรฐานอุตสาหกรรม (พ.ศ.ISO)

เดิมนั้น กระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย ต่อมา ในปี พ.ศ.2523 ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ 25 มกราคมเป็นวันกองทัพไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ตามการคำนวณของ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ คำนวณได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2135 (พ.ศ.ISO 2136) ซึ่งเชื่อว่าเป็นการคำนวณที่ไม่ถูกต้อง

ราวปี พ.ศ.2535-2538 นักคำนวณปฏิทินที่สำคัญ ได้แก่ นายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต นายสุชาติ เผือกสกนธ์ เลขาธิการมูลนิธิพระดาบส และนายลอย ชุนพงษ์ทอง ที่ปรึกษาการคำนวณปฏิทินหลวงสำนักพระราชวัง ได้ตรวจสอบ และลงความเห็นตรงกันว่า วันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม แต่น่าจะตรงกับวันที่ 18 มกราคม ปีดังกล่าว ทางราชการยังคงถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทยต่อไป จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันที่ 18 มกราคมของทุกปี และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหมตามหลักการเดิมที่ว่า ให้ตรงกับวันกระทำยุทธหัตถี

อนึ่ง ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นท่านแรกที่คำนวณไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ว่าตรงกับ 18 ม.ค. แต่ทางกองทัพไม่ทราบเรื่อง จึงได้นำไปใช้

นายลอย ชุนพงษ์ทอง ได้อธิบายสาเหตุที่คำนวณผิด ในการประชุมวิชาการปฏิทินไทยเชิงดาราศาสตร์ จัดโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พ.ศ.2550 ว่า น่าจะเกิดจากนับจำนวนวันถอยหลังจากวันเถลิงศกของปีนั้น ซึ่งใน ค.ศ.1593 นั้น ตรงกับวันที่ 9 เมษายน แต่เข้าใจผิดว่า วันเถลิงศกตรงกับวันที่ 15 เมษายน เหมือน พ.ศ.2522 ที่คำนวณ ประกอบกับค่ำกำเนิดของวันเถลิงศกตามหลักสุริยยาตร์ ตรงกับขึ้น 8 ค่ำ แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และหลักปฏิทินไทย ควรเป็นขึ้น 9 ค่ำ เมื่อตามนับถอยหลัง จึงทำให้วันทีได้ช้าไป 7 วัน กลายเป็น 25 ม.ค. อาจกล่าวอีกอย่างว่า แทนที่จะนับถอยหลังจาก ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ของวันที่ 9 เม.ย. ก็นับจาก 8 ค่ำ เดือน 5 ของวันที่ 15 เม.ย. จึงผิด 2 ต่อ รวมกันได้ 7 วัน





กำลังโหลดความคิดเห็น