xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งเริ่มวิกฤต เขื่อนปราณบุรีงดส่งน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - ภัยแล้งประจวบฯ เริ่มวิกฤต เขื่อนปราณบุรีงดส่งน้ำเพื่อการเกษตร คลองสายใหญ่ และคลองซอยน้ำแห้งขอด แหล่งน้ำตามหมู่บ้านที่มีอยู่ก็มีน้ำเหลือยู่น้อยมาก ขณะที่เกษตรกรบางรายต้องเลิกปลูกพืชหันไปทำอาชีพอื่นแทน

วันนี้ (14 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพคลองส่งน้ำสายใหญ่ ตลอดจนคลองซอยที่รับน้ำมาจากเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะนี้มีสภาพแห้งขอด ส่งผลทำให้ภาคการเกษตรในพื้นที่ อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอด อ.กุยบุรี ได้รับผลกระทบ พืชผลการเกษตรขาดแคลนน้ำหลังจากที่เขื่อนปราณบุรี งดส่งน้ำให้ภาคการเกษตรกรรมมานานหลายเดือน

จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันเขื่อนปราณบุรี มีน้ำเหลืออยู่ 121.50 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 31.07 เปอร์เซ็นต์ แต่น้ำที่สามารถใช้ได้มีเพียง 103.91 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 26.58 เปอร์เซ็นต์ น้ำที่เหลือเขื่อนมีความจำเป็นต้องเก็บกักไว้เพื่อรักษาระบบนิเวศ และรักษาตัวเขื่อน โดยเขื่อนปราณบุรี สามารถส่งน้ำให้ประชาชนได้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และผลิตประปาหมู่บ้านเท่านั้น โดยการส่งน้ำเข้าระบบคลองชลประทานสายใหญ่ให้ในแต่ละอำเภอเป็นรอบเวร ได้เพียงอำเภอละ 3 วัน โดยจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือน วันที่ 15-17 จะเริ่มเปิดให้ อ.ปราณบุรี วันที่ 18-20 อ.สามร้อยยอด และวันที่ 21-23 อ.กุยบุรี

สำหรับน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมเขื่อนปราณบุรีได้มีการเรียกประชุม และประชาสัมพันธ์ให้ทุกหน่วยงานได้ทราบถึงความจำเป็นที่ไม่สามารถส่งน้ำให้ภาคการเกษตรได้มาหลายเดือนแล้ว เนื่องจากในปีนี้ในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ มีปริมาณน้ำฝนที่ตกเข้าเขื่อนมีปริมาณน้อยมากกว่าทุกปี ซึ่งเขื่อนปราณบุรี จะจัดสรรน้ำให้ได้จนถึงฤดูฝนหน้าประมาณเดือน มิ.ย.59

นอกจากนั้น แหล่งน้ำที่มีตามหมู่บ้านที่ประชาชนนำมาเพื่ออุปโภคบริโภคเริ่มมีน้ำเหลือน้อยบางแห่ง คาดว่าน่าจะมีใช้ได้อีกประมาณ 1 เดือนก็คงหมด ชาวบ้านคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเหมือนทุกปีที่ผ่านมา หวังว่าภาครัฐจะเร่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด มะม่วง ว่านหางจระเข้ เผือก ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากการไม่มีน้ำมารดให้แก่พืชสวนที่กำลังต้องการน้ำ ซึ่งเกษตรกรบางรายจำเป็นต้องเลิกทำการเกษตร หันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นแทน เนื่องจากไม่มีน้ำ หรือเกษตรบางรายที่มีกำลังก็จ้างมาคนขุดน้ำบาดาลเพื่อนำน้ำมาใช้รดพืชไร่เป็นการเพิ่มต้นทุนสูงขึ้นให้แก่เกษตรกร




กำลังโหลดความคิดเห็น