ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - ภัยแล้งลุกลามทั่วเหนือ ระดับน้ำในแม่น้ำ “ปิง วัง ยม น่าน” สี่แม่น้ำสายหลักต้นเจ้าพระยาแห้งหมด กระทบทั้งภาคการเกษตร และน้ำอุปโภคบริโภคระนาว แม้แต่ “หนองบัวพระเจ้าหลวงดอยสะเก็ด” ยังแห้ง จนบัวแล้งน้ำแห้งตาย-กว๊านพะเยาลดฮวบฮาบ ชาวนาพิจิตร-สุโขทัยหันปลูกพืชอื่นสู้
วันนี้ (14 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งนับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกพื้นที่ ล่าสุดสภาพน้ำปิงแห้งขอดจนมีสันดอนทรายโผล่ คนเดินข้ามได้หลายจุด ขณะที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เหลือน้ำกักเก็บเพียง 31 ล้าน ลบ.ม. หรือ 12% ของความจุ ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำสนับสนุนการปลูกข้าวนาปรังได้ จนข้าวนาปรังของเกษตรกรที่ปลูกไว้หลายพื้นที่เริ่มขาดน้ำยืนต้นตายเป็นจำนวนนับ 100 ไร่
ขณะที่ “หนองบัวพระเจ้าหลวง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่” ก็มีระดับน้ำลดลงกว่า 1 เมตร ทำให้ต้นดอกบัวที่ปลูกไว้ยืนต้นแห้งตายเป็นจำนวนมาก แม้แต่ศูนย์พยาบาลผู้สูงอายุในพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ดก็ต้องซื้อน้ำ ให้รถบรรทุกขนาด 5 พันลิตรนำไปกักเก็บสำรองไว้ในสระน้ำเพื่อใช้ผลิตน้ำอุปโภคบริโภค เที่ยวละ 500 บาท เนื่องจากปริมาณน้ำใต้ดินแห้ง และลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงชาวสวนลำไย-ชาวบ้านในหมู่บ้านจัดสรรบางแห่งในพื้นที่ทางตอนใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ ก็ต้องซื้อน้ำไปเก็บสำรองไว้รดสวน-รดต้นไม้เช่นกัน
ด้านแม่น้ำวัง ที่ไหลผ่านลำปาง ก็อยู่ในสภาพไหลริน จนนายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอสบปราบ จ.ลำปาง พร้อมเจ้าหน้าที่ อปท.ต้องเร่งออกสำรวจแหล่งน้ำ
หลังได้รับรายงานจากผู้นำชุมชนว่ามีชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำวังเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งจากน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร เนื่องจากน้ำวังมีปริมาณน้อยมาก ส่งผลทำให้หัวสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าทั้ง 8 แห่งในพื้นที่ อ.สบปราบ ไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ ทั้งยังกระทบต่อประปาหมู่บ้านแทบทุกแห่งด้วย
ส่วนที่พะเยา ล่าสุดมีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง ดอกคำใต้ เชียงคำ จุน แม่ใจ และภูกามยาว โดยมีพื้นที่ทางการเกษตรประสบภัยแล้งรวม 25,810 ไร่ ใน 33 ตำบล 201 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 4,416 ราย ขณะที่ปริมาณน้ำในกว๊านพะเยา ขณะนี้เหลือเพียง 15.2 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น และมีอัตราการระเหย-รั่วซึมสูงถึง 22,000 ลบ.ม./วัน ทั้งที่มีการนำน้ำดิบจากกว๊านฯ ทำประปาเพียง 18,000 ลบ.ม.เท่านั้น
จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งมาก คือ อ.เทิง อ.เวียงป่าเป้า อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงของ กระนั้นก็ไม่ได้เป็นไปในวงกว้างแต่จะเกิดเฉพาะพื้้นที่ที่ห่างไกลแหล่งน้ำและเป็นพื้นที่สูง
ขณะที่จังหวัดแพร่ นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ ผวจ.แพร่ ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องประชุมแก้ปัญหาภัยแล้งในปีนี้ ที่ห้องประชุมเวียงโกศัย ศาลากลางจังหวัดแพร่ เร่งให้มีการสำรวจพื้นที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก จัดหาภาชนะเก็บน้ำ และเร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติพร้อมทั้งวางแผนจัดหาน้ำให้ประชาชนได้อย่างเพียงพอ และประชาสัมพันธ์มีการใช้น้ำอย่างประหยัด
เนื่องจากพบว่า อ่างเก็บน้ำมีอยู่ทั้งหมดในจังหวัดแพร่จำนวน 67แห่ง มีปริมาณน้ำโดยรวมเพียง 44.61% เท่านั้น ซึ่งแม้ปริมาณยังเพียงพอต่อการผลิตประปาในภาพรวมระดับจังหวัด แต่มีบางพื้นที่ที่ขาดแคลนจริงๆ ต้องส่งรถบรรทุกน้ำไปช่วย
ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำยมในจังหวัดแพร่มีน้ำไหลผ่านเพียง 0.5-3.1 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกครัวเรือนต้องลดการใช้น้ำลงร้อยละ 20 และตั้งแต่ อ.วังชิ้น สุโขทัย พิษณุโลก จะลำบากมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
ด้านนายสมยศ แสงมณี ผอ.โครงการชลประทาน จ.พิจิตร บอกว่า ขณะนี้เริ่มเข้าใกล้วิกฤตแล้ว เนื่องจากน้ำเหนือเขื่อนมีน้อย น้ำในแม่น้ำน่านลดลง ไม่เพียงพอที่จะให้สูบน้ำไปทำนาได้อีก ส่วนแม่น้ำยม ยอมรับว่าน้ำเริ่มแห้งขอด โดยในเขต อ.สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง โพทะเล น้ำยมแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามได้ จะมีเพียงบริเวณหน้าฝายยาง 2 แห่งของ อ.โพทะเลเท่านั้นที่ยังมีน้ำอยู่เพียงเล็กน้อยพอให้ชาวนาได้สูบไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว
“คาดว่าสิ้นเดือนมกราคมนี้น้ำในแม่น้ำยมทุกจุดก็จะแห้งขอด จึงขอแนะนำเกษตรกรควรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย”
ชาวนาพิจิตร-สุโขทัย เร่งพลิกผืนนาปลูกพืชใช้น้ำน้อยสู้
นายวิเชียร จูห้อง นายอำเภอวังทรายพูน กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนาในเขตวังทรายพูนหันมาปลูกแตงโมกันแล้วประมาณ 3 พันไร่ เนื่องจากเป็นพืชใช้น้ำน้อยลงทุนแค่เพียงไร่ละ 4-5 พันบาท ใช้เวลา 80-90 วันก็สามารถตัดผลผลิตได้ถึง 3 รอบ ขณะนี้ราคาซื้อขายแตงโมอยู่ที่ กก.ละ 6 บาท เกษตรกรบอกว่า 1 ไร่มีรายได้ถึง 5 หมื่น ถึง 6 หมื่นบาท จึงถือได้ว่าแล้งนี้ชาวนาพิจิตรสามารถฝ่าฟันวิกฤตหลุดพ้นจากความยากจนได้
นอกจากนี้ ในวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2559 ชาวอำเภอวังทรายพูนก็ยังจะได้จัดงาน “เที่ยวเมืองแตงโม โชว์กรงนก” ขึ้นที่หน้าที่ว่าการอำเภอวังทรายพูน เพื่อเป็นการส่งเสริมการขายและส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย
ส่วนชาวนาหมู่ 12 ต.กกแรต อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ที่ประสบภัยแล้งเช่นกัน ก็กำลังหันมาทำไร่พริก และปลูกฟักทอง แทนการทำนาข้าว เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอด
นางสาวจันทรา มั่นประสงค์ เกษตรกรในพื้นที่ กล่าวว่า ครอบครัวมีอาชีพทำนาปลูกข้าว แต่หลังจากต้องเผชิญปัญหาภัยแล้ง จึงได้หันมาทดลองปลูกฟักทองโดยเริ่มต้นจาก 1 ไร่ ปรากฏว่าเมื่อเก็บผลผลิตขายครั้งแรกได้เงินจำนวน 18,000 บาท หักทุน 3,000 ก็ยังเหลือกำไร 15,000 บาท ดีกว่าทำนาข้าวเป็นเท่าตัว จึงขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็น 8 ไร่ และจะปลูกเพิ่มไปเรื่อยๆ
ขณะที่ชาวนารายอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกันก็เลิกทำนาแล้วหันมาปลูกฟักทองด้วย รวมทั้งมีการปลูกพริก ถั่วฝักยาว เผือก แตงกวา มะเขือ บวบ และข้าวโพด เป็นแบบไร่นาสวนผสมที่ใช้น้ำน้อย ลงทุนน้อย ดูแลง่าย และให้กำไรดีกว่าทำนา
สำหรับฟักทองจะใช้เวลาเพาะปลูกประมาณ 70 วันก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้ นอกจากส่งให้พ่อค้าขายต่อในตลาดสดแล้ว ก็ยังส่งขายให้โรงงานทำขนมของฝากอีกด้วย จึงไม่ห่วงเรื่องตลาดรับซื้อเพราะมีแน่นอน