บุรีรัมย์- เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ไม่พอใจมติ ครม.แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ เพราะไม่มีความชัดเจนเพียงยื้อเวลาไม่ให้เกษตรกรออกมาเคลื่อนไหวชุมนุม พร้อมชี้ควรเร่งระบายยางในสต๊อกและหาตลาดรับซื้อให้กว้างมากขึ้น ตัดพ้อขณะนี้ชาวสวนยางเหมือนตายทั้งเป็น
วันนี้ (12 ม.ค.) เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราบ้านน้อยอุบล ต.โนนสุวรรณ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ไม่พอใจมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำโดยการรับซื้อยางของเกษตรกรโดยตรงในราคาสูงกว่าท้องตลาดแต่กลับไม่กำหนดราคาให้ชัดเจน จึงมองว่าเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือยื้อเวลาเพื่อไม่ให้เกษตรกรออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องหรือชุมนุมกดดันรัฐบาลเท่านั้น
หากรัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาควรจะกำหนดราคารับซื้อที่ชัดเจน โดยยางก้อนถ้วยไม่ควรจะต่ำกว่ากิโลกรัมละ 25-30 บาท ยางแผ่นควรจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท เกษตรกรจึงจะอยู่รอดได้ เพราะขณะนี้ในพื้นที่ อ.โนนสุวรรณ ยางก้อนถ้วยมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 10 บาท ยางแผ่นกิโลกรัมละ 33-35 บาท
ดังนั้น แนวทางการช่วยเหลือในระยะสั้นควรจะกำหนดราคารับซื้อให้ชัดเจน ให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม ส่วนในระยะยาวควรวางแผนการซื้อขายอย่างเป็นระบบ ไม่ควรให้ยางค้างสต๊อกมากจนเกินไป และควรหาตลาดส่งออกให้กว้างมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาราคายางพาราตกต่ำซ้ำอีก
นายสวาท จำปาสา ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อ.โนนสุวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารากำลังประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนัก เหมือนกับตายทั้งเป็นเพราะไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร หวังพึ่งก็แต่รัฐบาลให้ช่วยเหลือแก้ปัญหาราคายางที่ตกต่ำถึงขีดสุด แต่กลับไม่เป็นที่พอใจ
ส่วนกรณีที่รัฐบาลแนะนำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นเสริมนั้นคงไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะไม่รู้ว่าจะมีตลาดรองรับหรือไม่ และหากหันไปปลูกพืชที่ซ้ำๆ กันเป็นจำนวนมากก็จะประสบปัญหาราคาตกต่ำซ้ำอีก
ดังนั้น รัฐบาลควรมีการวางแผนแก้ปัญหาและช่วยเหลือเรื่องราคาพืชผลการเกษตรไว้ล่วงหน้า ไม่ควรปล่อยให้เกษตรกรเดือดร้อนหนักหรือออกมาเคลื่อนไหว ค่อยหาแนวทางแก้ปัญหาเป็นครั้งคราวไป