สุรินทร์ - ส่องชีวิตคนเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง อพยพฝูงเป็ดไข่กว่า 7,000 ตัวด้วยรถทุกสิบล้อหนีภัยแล้งบุรีรัมย์ ข้ามจังหวัดพเนจรหาแหล่งอาหารเลี้ยงในทุ่งนา อ.ชุมพล เมืองช้าง เพื่อความอยู่รอด เผยทุกข์ยากลำบากภัยแล้งคุกคามหนัก แห้งแล้ง แหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอด ไม่มีแหล่งเลี้ยงเป็ดได้ และอาหารไม่เพียงพอทำเป็ดออกไข่น้อยจากวันละ 200 แผง เหลือแค่ 50 แผง รายได้แผงละ 100 บาท สูญฮวบ 4 เท่า
วันนี้ (12 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เกษตรกรเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งชาว อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ต้องอพยพเป็ดไข่กว่า 7,000 ตัว ด้วยรถบรรทุกสิบล้อข้ามจังหวัดมาหาแหล่งอาหารสำหรับเลี้ยงเป็ดที่ จ.สุรินทร์ เนื่องจากแหล่งอาหารและแหล่งน้ำตามธรรมชาติในพื้นที่เริ่มแห้งขอด ทำให้อาหารเป็ด เช่น ปู ปลา หอยชนิดต่างๆ เริ่มหายาก และเมื่ออาหารไม่เพียงพอเป็ดก็ออกไข่น้อยลง จากเดิมกว่าวันละ 200 แผง ลดลงเหลือเพียงวันละ 50 แผงเท่านั้น
ผลกระทบจากภัยแล้งดังกล่าว นายสุบัน ยันตรี อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 11 บ้านหนองตาเข้ม ต.นางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ต้องพเนจรอพยพเป็ด มาขออาศัยพื้นที่นาของเกษตรกรบ้านหนองวิมานเหนือ ต.กระเบื้อง อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังเสร็จใหม่ๆ เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงเป็ดไข่ของตัวเองกว่า 7,000 ตัว
ขณะเจ้าของที่นาเองได้รับผลดีจากเป็ดไล่ทุ่งที่ช่วยกินกำจัดหอยเชอรี่ศัตรูตัวร้ายของต้นข้าวให้หมดไป อีกทั้งเป็ดยังช่วยกินเมล็ดข้าวที่ตกหล่นเป็นอาหารลดและป้องกันข้าวหอมมะลิที่จะปักดำในฤดูกาลหน้าไม่ให้กลายพันธุ์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เจ้าของที่นาจึงไม่เก็บค่าที่นาและมักนิยมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งนำเป็ดลงเลี้ยงในที่นาตัวเอง
นายสุบัน ยันตรี อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 11 บ้านหนองตาเข้ม ต.นางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง กล่าวว่า เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งมานานหลายปีแล้ว ช่วงนี้ลำบากมาก เพราะแล้งคุกคามหนัก แหล่งอาหารตามธรรมชาติเริ่มหายาก แทบหาอาหารมาเลี้ยงเป็ดไม่ได้แล้วและเริ่มเหนื่อยขึ้นทุกวัน ต้องนำเป็ดอพยพจาก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ มาเลี้ยงที่ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ เนื่องจากในพื้นที่ อ.นางรอง แห้งแล้ง น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งหมดจนไม่มีพื้นที่ให้เลี้ยงเป็ดได้
จำต้องอพยพพเนจรไปเรื่อยๆ เพื่อให้เป็ดหาอาหาร เช่น ข้าวที่ตกหล่นจากการเก็บเกี่ยว และหอยเชอรี่ตามทุ่งนาของชาวบ้าน ครั้งนี้ตนมาเลี้ยงเป็ดด้วยกัน 4 คน แต่ทนความลำบากที่ต้องนอนกลางดินกินกลางทุ่งนา ไม่ไหว หนีกลับบ้านไปแล้ว 2 คน เพราะต้องนอนเฝ้าเป็ดตลอดเวลา
นายสุบันกล่าวต่อว่า ตนเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งกว่า 7,000 ตัว อายุครบปีพอดีกำลังออกไข่ ไข่เป็ดที่เก็บได้ในแต่ละวันจะนำไปคัดขนาดที่บ้านอีก ก่อนนำไปขายในราคาแผงละ 100 บาท และป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีน ประมาณ 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง และตระเวนหาทำเลเลี้ยงที่เหมาะสมโดยการใช้รถสิบล้อขนย้ายเป็ดเพื่อความอยู่รอด โดยจะปักหลักเลี้ยงในแต่ละแห่งประมาณ 1-2 เดือน แล้วย้ายไปเลี้ยงที่แห่งใหม่ ส่วนเจ้าของที่นาก็ไม่ว่าอะไร
โดยในแต่ละวันตื่นเช้ามาจะพากันเก็บไข่เป็ดใส่แผงไว้ให้คนทางบ้านมานำไปคัดขนาด และหลังรับประทานอาหารเสร็จแล้ว จะปล่อยเป็ดออกไปหาอาหารตามทุ่งนาตลอดทั้งวัน พอตกเย็นก็ช่วยกันต้อนเป็ดเข้าเล้า ซึ่งใช้ตาข่ายขึงล้อมรอบเตรียมไว้ แล้วกางเต็นท์นอนเฝ้าข้างเล้าเป็ดตลอดทั้งคืน
“ปีนี้ภัยแล้งคุกคามเร็วและหนักมาก ส่งผลกระทบให้เป็ดที่เลี้ยงไว้กว่า 7,000 ตัว ออกไข่น้อยลงจากเดิมวันละกว่า 200 แผง ทุกวันเหลือเพียง 50 แผงเท่านั้น” นายสุบันกล่าว