xs
xsm
sm
md
lg

ทหารไทยชายแดนศรีสะเกษเสนอใช้ “อิมมิเกรชันการ์ด” คุมเข้มเข้าออกด่าน “ช่องสะงำ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูชา ช่องสะงำ  ต.ไพรพัฒนา  อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ วันนี้ ( 11 ม.ค.)
ศรีสะเกษ - ทหารไทยชายแดนด้านศรีสะเกษ เสนอใช้ “ระบบอิมมิเกรชันการ์ด” ผ่านเข้าออกด่าน “ช่องสะงำ” แทน “บัตรฉีก” เตรียมเสนอของงบฯ จาก จ.ศรีสะเกษ ดำเนินการด่วนรับ AEC เผยเพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นประโยชน์ด้านความมั่นคง สามารถควบคุมเก็บข้อมูลการผ่านเข้าออกประเทศไทยของชาวกัมพูชาผู้ถือบัตรได้ชัดเจน

วันนี้ (11 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา ช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ พ.อ.ณัฐ ศรีอินทร์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 และคณะได้เดินทางมาตรวจพื้นที่รับผิดชอบและติดตามการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวและชาวกัมพูชาผ่านเข้าออกที่บริเวณด่านช่องสะงำแห่งนี้ โดยการอนุญาตให้ชาวกัมพูชาเข้ามาหาซื้อสินค้าในเขตแดนไทยนั้นใช้เพียง “บัตรฉีก” ถือเข้ามาในเขตแดนไทยเพื่อเดินทางไปซื้อสินค้าที่ตลาดเมืองใหม่ช่องสะงำ ที่อยู่ห่างชายแดนไทย-กัมพูชาเข้าไปในเขตแดนไทยประมาณ 2.5 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องสะงำได้ตรวจสอบการผ่านเข้าออกของประชาชนชาวกัมพูชาอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ตรวจเข้มรถยนต์ทุกชนิด เพื่อป้องกันการนำสิ่งของผิดกฎหมายเข้ามาในเขตแดนไทย

พ.อ.ณัฐ ศรีอินทร์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า มีแนวคิดที่จะขยับด่านตรวจของฝ่ายความมั่นคงเข้ามาใกล้กับด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานร่วมกัน แต่เรื่องนี้ต้องพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชาก่อนเพื่อความเข้าใจตรงกัน

สำหรับการผ่านเข้าออกที่ด่านช่องสะงำนั้น ด่านช่องสะงำเป็นด่านผ่านแดนถาวร ประชาชนทั่วไปสามารถผ่านเข้าออกได้อยู่แล้ว โดยใช้หนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ต (Passport )และ หนังสือผ่านแดนชั่วคราวหรือบอร์เดอร์พาส (Border Pass) แต่มีปัญหาคือชาวกัมพูชาไม่ค่อยมีเงินทำพาสปอร์ตและบอร์เดอร์พาส ทำให้ชาวกัมพูชาไม่สะดวกที่จะนำมาใช้ ดังนั้นจึงมาอนุโลมให้ใช้บัตรฉีกเพื่อผ่านเข้ามาในเขตแดนไทย ถามว่าบัตรฉีกถูกกฎหมายหรือไม่ คำตอบคือไม่ถูกกฎหมาย เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ฉะนั้นเรื่องนี้ทางฝ่ายทหารเราจึงได้พยายามพูดคุยกับทาง จ.ศรีสะเกษ ว่าเรามีระบบบัตรผ่านแดนแบบอิมมิเกรชันการ์ด ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองใช้อยู่แล้ว ขอให้ช่วยสนับสนุนงบประมาณเพื่อมาติดตั้งระบบอิมมิเกรชันการ์ดเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการผ่านเข้าออก แต่พูดคุยกันมาเป็นปีแล้วยังไม่บรรลุผล หากตั้งระบบอิมมิเกรชันการ์ดจะสะดวกขึ้น ใช้เงินงบประมาณราว 3 แสนบาท ซึ่งตนจะได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้อีกครั้ง

พ.อ.ณัฐกล่าวต่อว่า การติดตั้งระบบอิมมิเกรชันการ์ดจะสามารถควบคุมและเก็บหลักฐานข้อมูลการผ่านเข้าออกของประชาชนชาวกัมพูชาที่เข้ามาในเขตประเทศไทยได้อย่างชัดเจน จึงอยากให้เข้าใจหน่วยความมั่นคงว่าต้องดูแลความปลอดภัยตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านช่องสะงำ ทั้งนี้หากใช้บัตรฉีกต่อไปก็จะมีปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองไม่จบสิ้น ซึ่งนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ และเมื่อเกิดเหตุร้ายอะไรขึ้นก็ไม่อาจตรวจสอบประวัติผู้ก่อเหตุได้ เพราะไม่มีการเก็บหลักฐานหรือข้อมูลใดๆ ของผู้ถือบัตรฉีกและบัตรฉีกที่ใช้อยู่ในขณะนี้กฎหมายไม่รองรับ เพราะไม่ใช่พาสปอร์ต หรือบอร์เดอร์พาส

ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเพื่อให้สามารถควบคุมติดตามชาวกัมพูชาที่เข้ามาในเขตแดนไทยในการหาซื้อสินค้าได้โดยสะดวก จึงควรจะติดตั้งระบบอิมมิเกรชั่นการ์ด ซึ่งทางทหารไทยพร้อมอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการค้าและการท่องที่ยวบริเวณช่องสะงำ เพื่อรองรับการเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มที่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ระบบบัตรผ่านแดนแบบอิมมิเกรชั่นการ์ด หรือบัตรผ่านแดน “อิมมิเกรชันการ์ด” มีคุณสมบัติ คือ แสดงรูปถ่ายและสามารถเก็บข้อมูลที่มีประวัติ วันเดือนปีเกิด และภูมิลำเนาของผู้ถือบัตรไว้อย่างละเอียด เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ทั้งฝั่งไทยและกัมพูชา



พ.อ.ณัฐ ศรีอินทร์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 กองกำลังสุรนารี  กองทัพภาคที่  2
กำลังโหลดความคิดเห็น