พิจิตร - เมืองชาละวันเดินหน้าพัฒนาการผลิตข้าวปลอดภัย ดึงผู้แทนกลุ่มผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้แปรรูป ผู้ขาย และผู้บริโภค จาก 12 อำเภอทั่วจังหวัดลงนาม MOU ร่วมผลิต ร่วมซื้อ ร่วมขาย ร่วมบริโภค ดัน “ข้าวปลอดภัย” แจ้งเกิดในตลาด
วันนี้ (8 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้โครงการส่งเสริมสถาบันการศึกษาในการพัฒนาบุคลากรธุรกิจข้าว และสินค้าเกษตร ของจังหวัดพิจิตร ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 1 ล้านไร่ กำลังเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้จังหวัดฯ ได้ระดมผู้แทน 5 กลุ่ม คือ ผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้แปรรูป ผู้ขาย และผู้บริโภค จาก 12 อำเภอ รวมกว่า 170 คน ร่วมหารือที่โรงแรมมีพรสวรรค์ แกรนด์โฮเทลแอนด์รีสอร์ท อ.เมืองพิจิตร
พร้อมทำบันทึกข้อตกลง (MOU) พัฒนากระบวนการผลิต-การตลาดเพื่อให้ชาวนาในจังหวัดพิจิตรได้พัฒนาองค์ความรู้ และผลักดันข้าวออกสู่ตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้ชาวนาลดต้นทุนการผลิต ที่ขณะนี้มีเกษตรกรต้นแบบของสมาคมชาวนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงพิจิตรสามารถปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี และทำจุลินทรีย์จาวปลวกใช้เองแทนการซื้อปุ๋ยเคมี จนมีต้นทุนการทำนาต่ำสุดเพียง 908 บาท/ไร่ และมีผลผลิตเป็นข้าวปลอดภัย
โดย MOU ที่จัดทำขึ้นนี้มีสาระสำคัญคือ ชาวนาผู้ผลิตจะปลูกข้าวแบบปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมีปลูกข้าวพันธุ์ดีมีคุณภาพ, ผู้ซื้อคือผู้ประกอบการ ก็ให้คำมั่นสัญญาจะรับซื้อข้าวปลอดสารเคมีจากชาวนาในราคายุติธรรม และขายให้ผู้บริโภคโดยจะไม่นำไปปลอมปนกับข้าวสารที่ปลูกแบบปกติ, ผู้ประกอบการร้านค้า โรงแรม ร้านข้าวแกง ก็ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่า ในอนาคตฤดูกาลปลูกข้าวนาปีในปีนี้ร้านค้าที่จำหน่ายอาหารจะนำข้าวปลอดจากสารเคมีที่เป็นข้าวเมืองพิจิตรมาหุงขายให้นักท่องเที่ยว และผู้บริโภค
ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการเริ่มต้นปลูกข้าวพันธุ์ดีมีคุณภาพปลอดจากสารเคมีของชาวนาพิจิตร ตามคำขวัญที่ว่า “พิจิตรแผ่นดินทอง เรืองรองปลูกข้าวอินทรีย์ ข้าวกินดีรักษาโรคภัย ก้าวไกลสู่ AEC”