สุรินทร์ - ทุกข์ซ้ำกรรมซัดหลังชาวบ้านกันตรง อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ ประสบภัยแล้งหนัก แหล่งผลิตน้ำประปาแห้งขอด ล่าสุดโรคปากและเท้าเปื่อยกำลังระบาดหนักในวัว ควาย ต้องควักเงินจ่ายเอง วอนปศุสัตว์อำเภอลงพื้นที่ช่วยเหลือด่วน
วันนี้ (7 ม.ค. 59) ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านบ้านกันตรง ต.บึง อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ แจ้งว่า ชาวบ้านกว่า 30 หลังคาเรือน กำลังได้รับความเดือดร้อนหนักจากหนองน้ำทุ่งโก แหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาแห้งขอด ทั้งพบการระบาดหนักของโรคปากและเท้าเปื่อยในวัวและควาย ทำให้วัวควายภายในหมู่บ้านที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้มากกว่า 50 ตัวล้มป่วยจำนวนมาก ส่วนใหญ่พบในควายเป็นแผลที่ลิ้น น้ำลายฟูมปาก กินอาหารไม่ได้ ร่างกายซูบผอม ทั้งควายบางตัวบริเวณขามีแผล บาดเจ็บเดินลำบาก
หลังปรากฏว่ามีโรคปากและเท้าเปื่อยในวัวควายระบาด ชาวบ้านได้แจ้งผู้ใหญ่บ้านกันตรงและผู้นำชุมชนแล้ว แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อ.เขวาสินรินทร์ ลงพื้นที่เข้ามาแนะนำและให้การรักษาวัวควายที่กำลังป่วยแต่อย่างใด ชาวบ้านหวั่นสัตว์เลี้ยงล้มตาย จึงใช้บริการปศุสัตว์เอกชนฉีดวัคซีนป้องกันและฆ่าเชื้อให้วัว ควายที่ป่วยซึ่งมีราคาสูงกว่าปกติ
นางเต๋า เพ็งเพชร อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 81/2 ม.8 บ้านกันตรง (คุ้มทุ่งโก) ต.บึง อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนเลี้ยงควายทั้งหมด 8 ตัว ป่วยเป็นโรคปากและเท้าเปื่อย 2 ตัว ตื่นเช้ามาพบนอนไม่ตื่น ได้หมอปศุสัตว์บ้านตาโมกมารักษาโดยการฉีดวัคซีน เสียค่าใช้จ่ายเข็มละ 100 บาท อยากให้ปศุสัตว์ อ.เขวาสินรินทร์ ลงพื้นที่มาพ่นยาป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในคอกวัวคอกควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ เพราะหมู่บ้านนี้เลี้ยงเยอะมาก โรคปากและเท้าเปื่อยกำลังระบาดหนักใน 4-5 หมู่บ้าน และ 2-3 ตำบลที่อยู่ใกล้เคียงกัน
ด้านนายนัด ขันทอง อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 113/1 ม.8 บ้านกันตรง (คุ้มทุ่งโก) ต.บึง อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนเลี้ยงควาย 4 ตัว ป่วยเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยจำนวน 1 ตัว ป่วยมา 2 วันแล้ว มีอาการตัวแข็ง เดินไม่ได้ ตนแจ้งปศุสัตว์ อ.เขวาสินรินทร์แล้ว อยากวิงวอนผ่านสื่อถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องช่วยลงพื้นที่ดูรักษา พ่นยาและฉีดวัคซีนให้ชาวบ้านคุ้มทุ่งโก บ้านกันตรง ต.บึง อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ด้วย เพราะถ้าควายไม่ป่วยตายไปเสียก่อนก็สามารถขายได้ประมาณตัวละ 40,000 บาท
ด้านนายสัตวแพทย์เทอดศักดิ์ ดีเสมอ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า โรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคระบาดในสัตว์กีบคู่ โค กระบือ แพะ แกะ สุกร ซึ่งจังหวัดสุรินทร์พบระบาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 มากที่สุดคือพื้นที่ อ.เมืองสุรินทร์ ได้ประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาด ทุกพื้นที่ที่มีการระบาดจะมีการลงพื้นที่ฉีดวัคซีน พ่นยาฆ่าเชื้อและรักษาสัตว์ป่วย
จุดสังเกตโรคปากและเท้าเปื่อยในวัวควาย อาการที่เห็นชัด คือ มีน้ำลายในปาก เกษตรกรอาจจะสังเกตไม่เห็น แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นมีน้ำลายฟูมปากออกมา มีแผลในปาก มีอาการเจ็บ ประมาณหนึ่งสัปดาห์จะมีแผลที่เท้า เรียกว่า โรคปากและเท้าเปื่อย
การป้องกัน กรมปศุสัตว์จะฉีดวัคซีนให้ปีละ 2 ครั้งในรอบเดือน ธ.ค.-ม.ค. อีกรอบถึงคือเดือน มิ.ย.-ก.ค. สาเหตุของการเกิดโรค คือเกษตรกรไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย กรณีที่เกษตรกรฉีดวัคซีนอาจจะป่วยบ้าง แต่จะไม่ป่วยทั้งคอก หากสัตว์ล้มตายแนะนำให้ฝัง และไม่แนะนำให้นำเนื้อสัตว์ที่ตายด้วยโรคปากและเท้าเปื่อยมาบริโภค เพราะจะเป็นพาหนะนำเชื้อไปติดสู่โค กระบือ ของตัวเองได้
กรณีที่ชาวบ้านร้องเรียนผ่านสื่อ ตนได้ประสานไปยังปศุสัตว์อำเภอเขวาสินรินทร์ ให้เข้าไปดำเนินการฉีดวัคซีน ตัวไหนที่ป่วยจะดำเนินการรักษา และพ่นยาฆ่าเชื้อโรคบริเวณคอกเลี้ยง ลักษณะนี้จะไม่เรียกเก็บเงินจากเกษตรกร ช่วงแรกอาจไปซื้อยามา อาจเก็บค่ายาบ้าง แต่นับแต่นี้จะเน้นย้ำให้ปศุสัตว์อำเภอทุกแห่งให้บริการฟรีแก่เกษตรกรต่อไป