xs
xsm
sm
md
lg

วสท.ลงตรวจสอบชิ้นส่วนสะพานสำเร็จรูปของสะพานข้ามเจ้าพระยาร่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
พระนครศรีอยุธยา - วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และสภาวิศวกร ลงพื้นที่สำรวจวิเคราะห์ในพื้นที่อุบัติภัยจากชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตสำเร็จรูป หรือเซกเมนต์ 9 ชิ้น ที่เชื่อมระหว่าง 2 ตอม่อของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วงหล่น

วันนี้ (6 ม.ค.) คณะผู้บริหารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ (วสท.) องค์กรเสาหลักด้านวิศวกรรมของประเทศไทย นำโดย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ (Assoc.Prof.Siriwat ChaiChana) เลขาธิการ วสท. และ รศ.เอนก ศิริพานิชกร (Assoc.Prof.Anek Siripanichgorn) ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. พร้อมด้วย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ (Prof.Dr.Amorn Pimanmas) กรรมการอำนวยการ วสท. และเลขาธิการสภาวิศวกร ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อสำรวจความเสียหาย เพื่อค้นหา และวิเคราะห์สาเหตุทางวิศวกรรมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พบว่าจุดที่เกิดเหตุเป็นสะพานคอนกรีตสร้างใหม่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากถนนสายอยุธยา-บางปะอิน (สายใน) ช่วง ต.เกาะเรียน ข้ามไปฝั่งตะวันตก ถนนสายวัดไก่เตี้ย-สำเภาล่ม ช่วง ต.สำเภาล่ม ใกล้หมู่บ้านโปรตุเกส ความยาว 380 เมตร 4 ช่องการจราจร เพื่อเป็นถนนเลี่ยงเมือง จากถนนสายเอเชีย ตัดข้ามไปถนนสาย 347 บางปะหัน-ปทุมธานี ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จไปแล้วประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ เหตุเกิดจากระหว่างที่กำลังติดตั้งเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนสะพานซึ่งเป็นคอนกรีตสำเร็จรูป (Segment) ที่มีขนาดความกว้าง 9 เมตร ยาว 25 เมตร จำนวน 12 ตัว ได้ยกขึ้นรองเพื่อรอร้อยลวดอัดแรง (Tendon Cable) จำนวน 9 ชิ้น ยังเหลืออีก 3 ชิ้น ก่อนจะเคลื่อนไปเชื่อมระหว่าง 2 ตอม่อของสะพาน รวมความยาวทั้งหมด 36 เมตร

รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ (Assoc.Prof.Siriwat ChaiChana) เลขาธิการ วสท. กล่าวว่า “การลงพื้นที่เกิดเหตุในครั้งนี้ วสท.ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นของทาง วสท.เอง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิศวกร เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาว่าเกิดขึ้นจากอะไร เกิดขึ้นในขั้นตอนไหน และจะมีวิธีการที่จะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ก่อนที่จะมีการดำเนินการสร้างต่อให้แล้วเสร็จ

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า สะพานที่กำลังก่อสร้างเป็นการก่อสร้างสะพาน 2 แถว สร้างเสร็จไปแล้ว 1 แถว เหลืออีก 1 แถวที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเป็นส่วนที่เกิดปัญหาขึ้น จากการดูโครงสร้างของตัวสะพานแถวที่สร้างเสร็จแล้วทำให้เห็นได้ว่า มีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งคานสะพานด้วยโครงเหล็กเลื่อน (Launcher) ที่เป็นตัวยกชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตสำเร็จรูป (Segment) ขึ้นมาเรียงต่อกันทีละชิ้นส่วนแล้วทำการเลื่อนมาประกบให้เต็มก่อนจะร้อยลวดอัดแรง ในการยกชิ้นส่วนสะพานขึ้นมาได้ตัวโครงเหล็กเลื่อน (Launcher) มีที่รองรับ คือฐานที่อยู่บนตอม่อร่วมกับหูช้าง (Bracket) เพื่อช่วยรับน้ำหนัก

สันนิษฐานว่า ขณะที่โครงเหล็กเลื่อน (Launcher) กำลังยกชิ้นส่วนสะพาน หรือเซกเมนต์อยู่นั้นโครงสร้างชั่วคราวอาจทรุดเอียงจึงทำให้โครงเหล็กเลื่อน (Launcher) เสียเสถียรภาพ และพลิกร่วงลงมา ทำให้ชิ้นส่วนสะพาน หรือเซกเมนต์ที่ห้อยติดไว้ใต้โครงเหล็กเลื่อน (Launcher) ร่วงหล่นลงมาด้วย ขณะเดียวกัน ปลายของฐานตอม่ออีกต้นหนึ่งที่สร้างเสร็จแล้วก็ถูกดึงจนหักไปด้วย คาดว่าน่าจะเป็นความผิดพลาดในขณะก่อสร้าง”

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ (Prof.Dr.Amorn Pimanmas) กรรมการอำนวยการ วสท. และเลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า ลักษณะของการก่อสร้างสะพานแบบนี้ในประเทศไทยเรามีประสบการณ์มามากมาย สาเหตุอาจมาจากเรื่องของคน และขั้นตอนการทำงานว่าถูกต้องตามหลักมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งต้องใช้วิธีการสัมภาษณ์ และเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งเรื่องของวัสดุที่ใช้ รวมถึงวิศวกรผู้ควบคุมงานว่าเป็นไปตามหลักมาตรฐานวิศวกรรมหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องขอเวลาเพื่อวิเคราะห์อย่างรอบคอบ

ในเบื้องต้น วสท.แนะนำให้ผู้รับเหมารื้อถอนชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตสำเร็จรูป (Segment) และโครงเหล็กเลื่อน (Launcher) ที่มีปัญหาออกให้หมด และไม่นำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับเสาตอม่อที่มีปัญหาแตกร้าวแนะนำให้ทุบทิ้งแล้วหล่อขึ้นมาใหม่ สำหรับการหลุดของตัวหูช้าง (Bracket) ที่ใช้รองรับน้ำหนักของชิ้นส่วนสะพาน และโครงเหล็กเลื่อน ต้องดูอีกทีว่ามีกำลังรับน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ ซึ่งต้องอยู่ที่วิธีการยึดหูช้าง (Bracket) เข้ากับตัวเสา จากเหล็ก 4 เส้น จึงต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้งว่า เหล็ก 4 เส้น สามารถรับน้ำหนักของชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตสำเร็จรูป (Segment) และโครงเหล็กเลื่อน (Launcher) ที่กำลังติดตั้งแต่ละตัว รวม 12 ตัว ได้หรือไม่

ด้าน รศ.เอนก ศิริพานิชกร (Assoc.Prof.Anek Siripanichgorn) ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวสรุปว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทีมงานของ วสท. ได้เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างวัสดุเพื่อนำกลับไปหาสาเหตุที่แท้จริง ในขั้นตอนต่อไปทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ (วสท.) จะตั้งทีมวิเคราะห์และดำเนินการตรวจสอบทางวิศวกรรมอย่างละเอียด โดยจะแจ้งข่าวให้สื่อมวลชนทราบโดยทั่วกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น