xs
xsm
sm
md
lg

น้ำปิงลดฮวบ! เชียงใหม่เดินข้ามได้ - ลำพูนประปาไม่ไหลซ้ำอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่/ลำพูน - ระดับน้ำในแม่น้ำปิงลดฮวบลงอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ในเชียงใหม่แห้งจนถึงขั้นเดินข้ามได้ ผู้เลี้ยงปลากระชังเดือดร้อนกันทั่วหลังปลาน็อกน้ำตายเป็นพันตัว ที่รอดก็ต้องเพิ่มเวลาการเลี้ยงออกไปอีก ขณะที่ กปภ.ลำพูน ต้องประกาศหยุดจ่ายน้ำซ้ำอีกวันแล้ว

วันนี้ (5 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพภัยแล้งที่มาเร็วและรุนแรงกว่าทุกปีทำให้สภาพแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่หลังประตูระบายน้ำบ้านป่าแดดเป็นต้นไปมีสภาพแห้งขอด หาดทรายและร่องน้ำตื้นโผล่ให้เห็นสลอน จนชาวบ้านพากันนำอุปกรณ์ออกมาจับปลาที่ติดตามเกาะแก่ง แอ่งน้ำตื้น แก่งหินกลางแม่น้ำ ที่มีปลาติดค้างอยู่จำนวนมาก

นายณรงค์ หลวงสุนทร ชาวบ้านท่าหนองขี้ควาย ต.สบแม่ข่า อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ที่เลี้ยงปลาทับทิมในกระชังมากกว่า 12,000 ตัว บอกว่า ระดับน้ำที่ลดลงทำให้กระแสน้ำไม่ไหล ปลาเป็นโรค และน็อกน้ำตายไปกว่า 3 พันตัวแล้ว และยังทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้กินอาหารน้อยลง ต้องยืดระยะการเลี้ยงออกไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน จากปกติจะเลี้ยงนานประมาณ 5 เดือน ปลาจะมีน้ำหนักตัวละประมาณ 500 กรัมขึ้นไปก็จับขายได้แล้ว

นอกจากนั้น ระดับน้ำที่ลดลงยังทำให้คุณภาพน้ำต่ำลง ออกซิเจนลดน้อยลงตามไปด้วย ต้องเปิดกังหันเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้มากขึ้นตลอดทั้งคืน รวมทั้งต้องเร่งกำจัดผักตบชวา ที่ลอยมาติดตามข้างกระชังออก เพื่อไม่ให้มาแย่งออกซิเจน

“ต้นทุนซื้อลูกปลาตัวละ 5 บาท เดิมนำมาเลี้ยงในกระซัง นานประมาณ 5 เดือน ก็จับขายให้กับพ่อค้า ที่มารับซื้อถึงที่กิโลกรัมละ 76 บาท แต่ปีนี้ไม่ต้องพูดถึงกำไร ขอแค่ทุนคืนก็พอ”

ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำที่ลดลงทำให้ปลาในน้ำปิงบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปิงบ้านวังสิงห์คำ ต.ป่าแดด ในตัวเมืองเชียงใหม่เริ่มขาดออกซิเจนและลอยขึ้นมาหายใจตามผิวน้ำจำนวนมาก

วันเดียวกัน การประปาส่วนภูมิภาค สาขาลำพูน ได้ออกประกาศหยุดจ่ายน้ำอีกครั้งในเย็นวันนี้ (5 ม.ค.) เนื่องจากน้ำปิงลดลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีผักตบชวาและดินโคลนถูกกระแสน้ำพัดมาสะสมบริเวณปากทางชักน้ำดิบทำให้ไม่สามารถสูบน้ำดิบไปผลิตน้ำประปาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนได้ ล่าสุดขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังอยู่ระหว่างเร่งแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา การประปาส่วนภูมิภาค สาขาลำพูน ต้องหยุดจ่ายน้ำให้กับประชาชนกะทันหันจนทำให้ผู้ใช้น้ำเดือดร้อนกันทั่วเมืองมาแล้วครั้งหนึ่ง















กำลังโหลดความคิดเห็น