xs
xsm
sm
md
lg

In Pics & Clips : ระทึก! “เขื่อนเหมืองแร่บราซิลแตก” ปล่อยน้ำเสียไหลทะลักท่วมเมือง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - เกิดเหตุเขื่อนที่ใช้กักเก็บน้ำเสียจากเหมืองแร่ในบราซิลแตกเมื่อวานนี้ (5 พ.ย.) ทำให้น้ำโคลนที่เต็มไปด้วยกากแร่และสารพิษไหลทะลักเข้าท่วมตัวเมืองอย่างฉับพลัน ขณะที่เจ้าหน้าที่บราซิลเร่งเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยซึ่งอยู่ในเขตชนบทห่างไกลเพื่อประเมินความสูญเสียแล้ว





บริษัทเหมือง ซามาร์โก ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง วาเล ของบราซิล และ บีเอชพี บิลลิตัน ของออสเตรเลีย ระบุในคำแถลงร่วมว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เขื่อนแตก รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นที่เหมืองเกอร์มาโน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเมืองมาเรียนา ในรัฐมินาสเกไรส์ (Minas Gerais) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล

สำนักงานป้องกันพลเรือนในเมืองมาเรียนาได้ช่วยอพยพชาวบ้านราว 600 คนออกจากหมู่บ้าน เบนโต โรดริเกวซ ขึ้นสู่ที่สูง ขณะที่สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเผยแพร่ภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงให้เห็นบ้านเรือนหลายสิบหลังถูกน้ำโคลนไหลลงมาท่วม รถยนต์คันหนึ่งกับลอยขึ้นไปติดบนกำแพง ส่วนหลังคาอาคารก็ถูกกระแสน้ำพัดจนฉีกขาดออกไป

น้ำโคลนจากเขื่อนยังไหลต่อไปจนถึงหมู่บ้านปาราคาตู เด ไบโซ ที่ตั้งอยู่เชิงเขา จนต้องมีการสั่งอพยพประชาชนที่นั่นเช่นกัน

เขื่อนแห่งนี้ถูกใช้เพื่อกักเก็บกากแร่ น้ำ และสารเคมีที่เหลือจากการทำเหมือง และเนื่องจากจุดที่ตั้งเขื่อนอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำกัวลาโซ โด นอร์เต ชาวบ้านและทางการจึงเริ่มเป็นห่วงว่า เหตุการณ์นี้อาจทำให้สารพิษรั่วไหลลงสู่แม่น้ำ

สำนักข่าว G1 ในเครือโกลโบ อ้างข้อมูลจากองค์กรท้องถิ่นที่ระบุยอดผู้เสียชีวิตระหว่าง 15-16 คน และสูญหายอีกราวๆ 45 คน ขณะที่สำนักงานป้องกันพลเรือนยังไม่ระบุยอดผู้เสียชีวิตที่แน่นอน และเตือนว่าตัวเลขที่สื่อนำไปเผยแพร่ยังเป็นเพียงคาดการณ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากศาลาว่าการเมืองยืนยันว่า พบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1 ราย บาดเจ็บ 16 ราย และยังสูญหายอีกหลายสิบคน

ทำเนียบประธานาธิบดีบราซิลแถลงว่า หน่วยทหารซึ่งประจำการในภูมิภาคใกล้เคียงเตรียมพร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่วน กิลเบอร์โต อ็อกคี รัฐมนตรีกระทรวงบูรณภาพแห่งชาติ ก็เตรียมที่จะเดินทางไปสำรวจความเสียหายเพื่อจัดทำแผนเยียวยา

บริษัทเหมืองซามาร์โกสามารถผลิตแร่เหล็กได้ประมาณ 30 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของปริมาณเหล็กที่บราซิลผลิตได้ แร่เหล่านี้จะถูกส่งผ่านท่อจากเหมืองเกอร์มาโนไปยังเมือง เอสปิริโต ซานโต เพื่อแปรสภาพเป็นเม็ดเหล็กต่อไป

บีเอชพี ได้ขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทซามาร์โก และแสดงความเป็นห่วงสวัสดิภาพของพนักงานเหมืองและชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง ขณะที่ วาเล โบ้ยให้สื่อมวลชนไปสอบถามรายละเอียดจากซามาร์โกเอาเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น