xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนานครพนมพอใจรายได้เสริมทำไร่ยาสูบ-ฟิลลิป มอร์ริสฯ ย้ำชูหลักปฏิบัติที่ดีด้านแรงงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - เกษตรกรในนครพนมปลูกยาสูบหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จ ยอมรับรายได้ดีทำเงินไม่น้อยกว่า 60,000 บาท/ปี เผยภาคอีสานแหล่งปลูกยาสูบสายพันธุ์เตอร์กิชใหญ่สุดในไทย ด้าน บ.ฟิลลิป มอร์ริสฯ ชี้ 5 ปีที่ผ่านมารับซื้อใบยาจากเกษตรกรแล้วกว่า 4 พันล้านบาท ย้ำชูหลักปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานเกษตร

ระหว่างวันที่ 18-19 ธ.ค.ที่ผ่านมา บ.ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบและผู้รับซื้อใบยาสูบจากประเทศไทยเพื่อการส่งออก ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมไร่ยาสูบในพื้นที่ อ.เรณูนคร และ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกยาสูบสายพันธุ์ไทยโอเรียนทอล (เตอร์กิช) พืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกใน 14 จังหวัดของภาคอีสาน ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกยาสูบสายพันธุ์เตอร์กิชที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

การปลูกยาสูบถือเป็นอาชีพที่ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ของเกษตรกรในแถบภาคอีสานหลังฤดูทำนา ทั้งยังเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมที่นำส่งรายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบกว่า 62,734 ล้านบาทเข้าประเทศในปีงบประมาณ 2558

นางดาหวัน แต้มทา หนึ่งในบรรดาเกษตรกรชาวนาใน อ.เรณูนคร ที่เลือกปลูกยาสูบหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จ บอกว่าครอบครัวของเธอปลูกยาสูบมานาน 6 ปีแล้ว บนพื้นที่ 3 ไร่ ที่ผ่านมาสามารถทำรายได้ปีละประมาณ 60,000 บาท พอมาปีนี้ได้เพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 4 ไร่ และยอมรับว่ามีรายได้ดีกว่าการปลูกข้าว ที่สำคัญ การทำไร่ยาสูบเธอให้ความสำคัญต่อเรื่องแรงงาน โดยจะไม่ใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีมายุ่งเกี่ยวกับงานยาสูบทุกประเภท ถึงแม้จะเป็นสมาชิกในครอบครัวก็ตาม

นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการแผนกบรรษัทสัมพันธ์ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด กล่าวว่า ชาวไร่ยาสูบถือเป็นหัวใจสำคัญของฟิลลิป มอร์ริส บริษัทฯ ได้รับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 โดยมูลค่าการรับซื้อใบยาสูบของบริษัทฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในระหว่างปี 2553-2557 รวมอยู่ที่ประมาณ 4.33 พันล้านบาท และคาดว่าในปี 2558 นี้จะอยู่ที่ประมาณ 773 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทางบริษัทฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงก์ (พีเอ็มไอ) ได้เริ่มนำเอาหลักปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานเกษตร (Agricultural Labor Practices - ALP) มาใช้ตั้งแต่ปี 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพัฒนาสภาพการทำงานในไร่และความเป็นอยู่ของชาวไร่ยาสูบ ครอบครัว และแรงงานในไร่ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย โครงการ ALP ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2555 โดยครอบคลุมการทำงานในไร่ยาสูบหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันปัญหาการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการสร้างความปลอดภัยในการทำงานในไร่ยาสูบ เพื่อให้มั่นใจว่าใบยาที่เราจัดหามานั้นจะต้องมาจากแหล่งแรงงานที่ทำงานด้วยความปลอดภัยและยุติธรรม

นอกจากนี้ ฟิลลิป มอร์ริสได้ทำงานร่วมกับบริษัท อดัมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้รับซื้อและส่งออกใบยาสูบที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 46 ปี

นายสุโรจน์ เหล่าอรรคะ รองผู้จัดการฝ่ายไร่ของบริษัท อดัมส์ฯ กล่าวว่า เรามีชาวไร่ยาสูบสายพันธุ์โอเรียนทอลที่อยู่ในความดูแลของบริษัทในนครพนมประมาณ 2,700 ราย และชาวไร่ยาสูบในพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมดกว่า 20,000 ราย ปัจจุบันโครงการ ALP ที่เราได้ร่วมดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การส่งเสริมสนับสนุนด้านอุปกรณ์ป้องกันสารเคมี, การให้ความรู้เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์การทำงานไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับงานอันตราย

“รวมถึงการส่งเสริมการกำจัดทิ้งบรรจุภัณฑ์เคมีอย่างถูกสุขลักษณะ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศไทยที่มีการดำเนินโครงการนี้และประสบความสำเร็จอย่างดี” นายสุโรจน์กล่าว

นายพงศธรกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการใช้แรงงานที่ไม่ถูกต้องในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งหลัก ALP ที่ทางบริษัทฯ นำมาใช้ในประเทศไทยเป็นความพยายามอีกด้านหนึ่งที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนนี้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพราะเราเล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์สำคัญในการช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่อาชีพชาวไร่ยาสูบของไทย


นางดาหวัน แต้มทา เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ
นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการแผนกบรรษัทสัมพันธ์
นายสุโรจน์ เหล่าอรรคะ รองผู้จัดการฝ่ายไร่ของบริษัทอดัมส์ฯ
ผูู้บริหารฟิลลิป มอร์ริส กับคณะสื่อมวลชน
กำลังโหลดความคิดเห็น