พิษณุโลก - แม่ทัพภาคที่ 3 สั่งทุกจังหวัดคุมเข้มคนเมาแล้วส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ เจอเมื่อไหร่ยึดรถไว้ก่อน รับคืนปีหน้า แต่ถ้าเป็นข้าราชการ ต้องรายงานผู้บังคับบัญชา พร้อมสอบวินัยซ้ำ
วันนี้ (24 ธ.ค.) พล.ท.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล แม่ทัพภาคที่ 3 ได้ประชุมร่วมกับนายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกและหน่วยงานต่างๆ หาข้อสรุปถึงมาตรการรับมือปีใหม่ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ (อุบัติเหตุ, เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นศูนย์) โดยมีข้อสรุปดังนี้ คือ (1. ให้ทุกภาคส่วนราชการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงโทษของการดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ ผลเสียและบทลงโทษตามกฎหมาย พร้อมจัดทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์บทลงโทษตามกฎหมายติดตั้งตามเส้นทางหลัก, เส้นทางรอง ให้ประชาชนและผู้ที่สัญจรใช้รถใช้ถนนทราบ “เมาแล้วขับปรับเต็มอัตรา 5,000-20,000 บาท”
(2. ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไปให้ อ.เมือง จัดชุดจัดระเบียบสังคม 4 ชุด ประชาสัมพันธ์และกวดขันสถานบริการและร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกำชับให้ทุกร้านฯ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ถ้าพบมีการฝ่าฝืน ให้จับกุมอย่างเด็ดขาด สำหรับอำเภอรอบนอก ให้นายอำเภอจัดชุดจัดระเบียบสังคม 1 ชุด ประกอบกำลัง 3 ฝ่าย ทหาร, ตำรวจ, ปกครอง ออกตรวจสถานประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบ โดยยึดถือหลักปฏิบัติเดียวกัน (3. ให้แขวงการทางฯ สำรวจและตรวจสอบว่าจุดใดมีการซ่อมแซม, สร้างทาง และเป็นจุดอันตราย ให้มีสัญญาณไฟและป้ายเตือนให้เห็นชัดเจน (4. ให้ทุกอำเภอสำรวจว่าควรจะมีจุดตรวจเพิ่มเติมในจุดใดบ้าง รายงานให้ พล ร.4 ทราบก่อน 25 ธ.ค. 2558
(5. กำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ถ้าพบการกระทำที่ผิดกฎหมายให้ทำการจับกุม และบังคับใช้กฎหมายแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ต่อผู้ที่ฝ่าฝืน (6. ให้ ขนส่ง จ.พิษณุโลก พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร สุ่มตรวจผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ถ้าพบว่ามีอาการมึนเมาให้ดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด (7. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายเป็นกำลังหลักในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนอื่นเป็นกำลังสนับสนุน (8. จุดตรวจไหนที่ไม่มีเครื่องตรวจวัดออลกอฮอล์ ให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย (ปกครอง, ทหาร, ตำรวจ) ลงความเห็นร่วมกันว่าผู้ขับขี่มึนเมาหรือไม่ ถ้ามีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการตรวจยึดรถไว้ พร้อมกับดำเนินการตามกฎหมายต่อไป (9. ให้ทุก สภ.เฝ้าระวังการแอบแฝงการค้าประเวณี (เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี) ในเทศกาลปีใหม่ อาจจะเป็นการเข้าข่ายการค้ามนุษย์
(10. เส้นทางหลักทางหลวงแผ่นดิน ที่จะเข้าสู่พิษณุโลก ให้ระดับจังหวัดดูแล ส่วนเส้นทางสายรองให้อำเภอ และ สภ.ท้องที่เป็นผู้ดูแล (11. รถบรรทุกขนดิน ให้หยุดดำเนินการตั้งแต่ 25 ธ.ค. 2558 - 8 ม.ค. 2559 เพื่อเป็นป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ให้ทางราชการประสานกับผู้ประกอบการ (12. รถบัส, รถทัวร์ขนาดใหญ่ ที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาสักการะหลวงพ่อพุทธชินราช ให้จอดได้แห่งเดียวคือบริเวณสนามหน้าศาลากลาง เพื่อป้องกันรถติดขัด (13. เมาแล้วขับช่วงวันที่ 25 -27 ธ.ค. 58 ให้ดำเนินการควบคุมรถ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำบันทึกรับรถคืนในวันรุ่งขึ้น พร้อมแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรถ (14. ช่วงวันที่ 28 ธ.ค. - 4 ม.ค. 58 เมาแล้วขับ จับ ปรับ ควบคุมรถ รับรถคืนพร้อมหลักฐานแสดงการเป็นเจ้าของ ในวันที่ 5 ม.ค. 59 (15. สำหรับข้าราชการ เมาแล้วขับ จับ ปรับ ควบคุมรถ ให้รายงานผู้บังคับบัญชา เพื่อเอาผิดทางวินัย (16. สถานที่เก็บรถ ผู้เมาแล้วขับ ให้นำมาเก็บที่ค่ายสมเด็จพระนเรศวร และค่ายเอกาทศรถ
วันเดียวกัน แม่ทัพภาคที่ 3 ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการโรงงานผลิตน้ำตาล 10 โรงงาน และสมาคมชาวไร่อ้อย 6 สมาคม ที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมืองพิษณุโลก แก้ไขปัญหาการผลิต-ขนส่งอ้อยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเน้นย้ำให้มีการปฎิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นแนวทางเดียวกันในทุกพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาแต่ละจังหวัดบังคับใช้กฎหมายแตกต่างกัน
พล.ท.สมศักดิ์กล่าวว่า วันนี้กองทัพภาคที่ 3 และผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมคอนเฟอร์เรนท์ ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีการเน้นย้ำใน 2 หัวเรื่อง คือ การรักษาความปลอดภัย รักษาชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว และลดอุบัติเหตุในเทศกาลปีใหม่ ทางกองทัพภาคที่ 3 จึงเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงภาคประชาชนมาร่วมหารือ เพื่อให้สำรวจแหล่งท่องเที่ยวล่อแหลมที่อาจเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ได้ พร้อมกับสั่งให้วางกำลัง และเฝ้าตรวจหรือลาดตระเวนตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อรักษาความปลอดภัย
ด้านมาตรการลดอุบัติเหตุ จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จัดตั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด ซึ่งอุบัติเหตุ 80 เปอร์เซ็นต์มาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ และเกิดบนถนนสายรอง หรือทางหลวงชนบท จะต้องช่วยกันตั้งด่าน-จุดสกัดร่วม เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ส่วนปัญหาคนเมา ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่กองทัพภาคที่ 3 ดูแล จะต้องขอความร่วมมือและประชาสัมพันธ์ พร้อมทำสัญญาประชาคมหมู่บ้าน เช่น กรณีคนเมา-มีกลิ่นสุราขี่รถมอเตอร์ไซค์ เจอด่าน ชรบ. เจ้าหน้าที่จะต้องขอยึดรถก่อน และหลังปีใหม่ จึงมาขอคืน เป็นต้น เพื่อดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ให้ปลอดจากอบัติเหตุอย่างแท้จริง ถือเป็นของขวัญปีใหม่ “แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องโดนหนักกว่านี้”