xs
xsm
sm
md
lg

นอภ.ทองผาภูมิ พร้อมสร้างโป่งเทียม-แหล่งน้ำ-อาหารแก้ปัญหาช้างป่าบุกชุมชน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - นายอำเภอทองผาภูมิ พร้อมสร้างโป่งเทียม แหล่งน้ำ และอาหาร แก้ปัญหาช้างป่าบุกชุมชน เตรียมหางบสร้างรั้วไฟฟ้าตามยุทธวิธีกุยบุรีโมเดล แก้ปัญหาระยะยาว ชวน ปชช. และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เชื่อสำเร็จ



เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (22 ธ.ค.) ว่าที่ ร.ต.สุจินต์ ศรีวิเชียร นายอำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยกรณีเกี่ยวกับปัญหาช้างป่าจำนวนมากออกจากป่ามาหากิน และทำลายพืชไร่ของประชาชนในพื้นที่ตำบลห้วยเขย่ง อ.ทอแงผาภูมิ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านท่ามะเดื่อ หมู่ 1 ว่า พื้นที่ดังกล่าวเดิมทีเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่าอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณขึ้นมา ทำให้น้ำท่วมบ้านพักที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้งหมด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต้องอพยพชาวบ้านขึ้นมาอยู่ที่สูง และได้จัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนบริเวณบ้านท่ามะเดื่อ

ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ชาวบ้านก็พบช้างป่าออกมาหากินพืชไร่ของตนเองมาโดยตลอด แต่ช้างมีจำนวนที่น้อยมาก และไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อชาวบ้าน แต่มาระยะหลังประมาณ 5-6 เดือนที่ผ่านมา โขลงช้างป่าที่มีอยู่ประมาณ 60-70 ตัว ได้เริ่มทยอยออกมากิน และทำลายพืชไร่ของชาวบ้านเสียหายอย่างต่อเนื่องทุกวัน

โดยที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ เจ้าหน้าที่ ตชด.ที่ 135 อ.ทองผาภูมิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ทองผาภูมิ รวมทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ก็ได้สนธิกำลังกันจัดเวรยามเฝ้าระวังร่วมกับผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่วันละประมาณ 20 นาย โดยเฝ้าระวังตามเส้นทางเดินที่ช้างป่าจะเดินเข้ามาในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ช้างจะเริ่มเข้ามาตั้งแต่ช่วงค่ำ ถึงเวลาประมาณ 4 ทุ่มของทุกวัน

ซึ่งวิธีการผลักดัน หากพบในช่วงกลางวันก็จะใช้วิธีโยนประทัดลูกปิงปองเข้าใส่ เพื่อให้ช้างตกใจ และเดินหายเข้าไปในป่าเอง ส่วนในช่วงเวลากลางคืน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้ประทัดลูกปิงปองขับไล่ได้ เนื่องจากเกรงว่าช้างจะตกใจ และวิ่งเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้ จึงทำได้เพียงแค่ใช้ไฟฉายส่องใส่ดวงตาของช้าง และตะโกนให้ช้างกลับเข้าป่าไปเท่านั้น แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ยอมรับว่า การผลักดันให้ช้างป่ากลับเข้าป่านั้นทำได้ยากมาก ช้างก็ยังคงวนเวียนอยู่โดยรอบหมู่บ้านเช่นเดิม

ส่วนสาเหตุที่ช้างไม่ยอมกลับเข้าไปในป่า เจ้าหน้าที่คาดว่า อาจจะมีภัยอะไรบางอย่างคุกคามพื้นที่ที่ช้างเคยอาศัยอยู่ เช่น การคุกคามจากภัยแล้ง คือ แหล่งน้ำของช้างมีไม่เพียงพอ หรือภัยคุกคามทางด้านอาหาร คืออ าหารของช้างที่เคยอุดมสมบูรณ์อาจจะหมดไป หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของจำนวนช้างที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ภัยคุกคามเหล่านี้อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ช้างป่าโขลงนี้ออกมาหากินนอกพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการเข้าไปสำรวจผืนป่า และหุบเขาที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของช้างเพื่อสร้างโป่งเทียม เพื่อปลูกพืชที่เป็นอาหารของช้าง รวมทั้งสร้างแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น หากทำสำเร็จก็จะเป็นแรงจูงใจให้ช้างป่าทั้งหมดกลับเข้าไปอยู่ตามเดิม และจากการสำรวจในเบื้องต้น พบว่า จะต้องสร้างโป่งเทียมให้แก่ช้างรวม 5 จุด ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในการสร้างโป่งเทียม จุดละประมาณ 5 หมื่นบาท ซึ่งทางอำเภอได้จัดทำแผนเพื่อของบสนับสนุนไปยังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) กาญจนบุรี และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กาญจนบุรีแล้ว แต่ถ้าหากงบสนับสนุนยังไม่เพียงพอ ทางอำเภอก็จะของบสนับสนุนไปที่กระทรวงมหาดไทยเพิ่มเติม

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จะต้องจัดหางบประมาณจำนวนมากมาสร้างรั้วไฟฟ้า โดยจะยึดแนวทางเดียวกันกับการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่ากุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาเป็นโมเดล ถึงแม้จะไม่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถทำให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างไรก็ตาม หากประชาชน หรือหน่วยงานภาคเอกชน บริษัท ห้างร้าน ต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วม หรือต้องการมอบเงินสนับสนุนในการช่วยเหลือช้างป่า สามารถประสานมาได้ที่ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ หรือประสานไปยังหน่วยงานภาครัฐที่ท่านรู้จัก เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันจะทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวลุล่วง และประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน

ด้าน นายนพดล ดวงจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่ามะเดื่อ หมู่ 1 ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ กล่าวว่า ช่วงเวลาประมาณ 3-4 ทุ่มของเมื่อวาน (21 ธ.ค.) มีช้างป่าพยายามเดินเข้ามาในหมู่บ้านรวม 8 ตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านที่คอยเฝ้าระวังอยู่รอบนอกได้พยายามผลักดันออกไป แต่ทำได้แค่เพียงใช้แสงสว่างจากไฟฉายส่องไปที่ดวงตา และตะโกนขับไล่เท่านั้น โดยไม่สามารถใช้ประทัดปิงปองได้ และการขับไล่ทุกคนจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เข้าใกล้ช้างมากเกินไป เพราะการขับไล่ช้างป่าในช่วงเวลากลางคืนนั้นค่อนข้างอันตราย

ทั้งนี้ ตนในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในทุกๆ คืน จนทำให้คนเฒ่าชรา และเด็ก นอนหลับโดยไม่ต้องกังวลอีกต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น