กาญจนบุรี - ชาวท่ามะเดื่อ อำเภอทองผาภูมิ เริ่มสงสัยฝูงช้างป่าที่เข้ามาอาละวาดหากินในหมู่บ้าน 1 ในนั้นมีช้างเพศเมีย 1 ตัว ที่มีนิสัยเชื่อง คาดเป็นช้างบ้านที่มีเจ้าของปล่อยเข้าป่าหวังให้ผสมพันธุ์ ชาวบ้านเผยอยู่มาร่วม 30 ปี ไม่เคยพบช้างป่ามาก่อน ชี้หากช้างป่ายังคงอยู่ชาวบ้านพร้อมยอมรับหากรัฐบริหารจัดการให้ช้างอยู่กับคนได้ เชื่ออาจกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกาญจนบุรี
กรณีช้างป่า 60-70 ตัว ออกมาหาอาการกิน และทำลายพืชไร่ของชาวบ้านในพื้นที่บ้านท่ามะเดื่อ หมู่ 1 ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี มานานกว่า 5 เดือน พืชไร่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยไร่มันสำปะหลัง ไร่ขมิ้น ไร่ข้าวโพด ไร่นา สวนยางพารา สวนปาล์ม และมะละกอ เป็นต้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังต้องหลับนอนอย่างผวา เนื่องจากช้างยังได้เดินรอบบ้านพัก และใช้งวงคว้าเอาหม้ออาหารที่วางไว้ในห้องครัวไปกินในช่วงเวลากลางคืนด้วย ซึ่งช้างที่มีพฤติกรรมดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นช้างป่าเพศเมีย
ล่าสุด เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (21 ธ.ค.) นายนภดล ดวงจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่ามะเดื่อ หมู่ 1 ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า สำหรับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ เดิมทีเมื่อในอดีตก่อนปี 2522 ชาวบ้านทั้งหมดอาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ต่อมา ปี 2522 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เริ่มสร้างเขื่อนเขาแหลม หรือเขื่อนวชิราลงกรณ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ ขวางแม่น้ำแควน้อย การสร้างเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี 2527
จากนั้นปริมาณน้ำในเขื่อนได้ยกระดับสูงขึ้นจนเข้าท่วมหมู่บ้าน และที่ทำกินเดิมของชาวบ้านทั้งหมด ชาวบ้านทุกครัวเรือนต่างได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว รวมทั้งอำเภอสังขละบุรีด้วย ภายหลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้จัดสรรที่ดินให้แก่ชาวบ้านเพื่อปลูกบ้านที่อยู่อาศัย และที่ทำกินแห่งใหม่หลายจุด โดยให้สหกรณ์นิคมเป็นผู้ดูแล และจัดสรรที่ดินให้แก่ชาวบ้าน
ทำให้ชาวบ้านบางส่วนเลือกที่จะมาอาศัยอยู่ที่บ้านท่ามะเดื่อ หมู่ 1 ต.ห้วยเขย่ง ผ่านมากว่า 30 ปี ที่เราอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ โดยเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา หมู่บ้านที่เราอาศัยอยู่ไม่เคยพบเห็นช้างป่ามาก่อน ชาวบ้านต่างก็ทำมาหากินแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาโดยตลอด ด้วยการปลูกพืชไร่เพื่อนำเอาผลผลิตไปขาย ที่เหลือก็เอาไว้กินเองภายในครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องไปซื้อจากที่อื่น ยกเว้นเครื่องครัวเท่านั้น
สำหรับช้างป่าที่เข้ามาอาละวาดหากินในหมู่บ้าน เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งครั้งที่พบโขลงช้างป่าครั้งแรก ชาวบ้านก็เกิดความสงสัยว่า ช้างป่าโขลงดังกล่าวนั้นมาได้อย่างไร และมาจากที่ไหน เพราะไม่เคยพบเห็นมาก่อน ตั้งแต่ย้ายมาจากพื้นที่ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี แต่ชาวบ้าน และหน่วยงานต่างๆ ก็ได้มาช่วยกันขับไล่ออกจากพื้นที่ไปแล้ว และไม่เห็นช้างกลับมาอีกเลย
จนกระทั่งเมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็พบว่าโขลงช้างป่าก็ได้กลับเข้ามาหากินพืชไร่ของชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง การกลับของช้างป่าในครั้งนี้ ชาวบ้านพร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามขับไล่ให้ออกจากพื้นที่แต่กลับไม่เป็นผลเหมือนเมื่อขับไล่ในครั้งแรก ช้างยังคงเดินหากินวนเวียนอยู่โดยรอบหมู่บ้าน โดยไม่ยอมไปไหนอีกเลย ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าที่จะออกจากบ้านไปทำมาหากินตามปกติได้
ส่วนโขลงช้างป่าที่มีอยู่ประมาณ 70 ตัว พบว่า มีลูกช้างที่เกิดใหม่อยู่กว่า 10 ตัว และช้างวัยรุ่นอีกเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเชื่อว่าช้างโขลงดังกล่าวน่าจะเดินลัดเลาะตามภูเขามาจากพื้นที่อำเภอไทรโยค จ.กาญจนบุรี หรือไม่ก็มาจากพื้นที่ป่าในจังหวัดราชบุรี แต่ที่น่าสังเกตคือ ปกตินิสัยของช้างป่าจะกลัวคน และเมื่อใช้ประทัดลูกปิงปองโยนใส่ เมื่อเกิดเสียงดังช้างก็จะวิ่งหนีเข้าป่าทันที
สำหรับช้างเพศเมียที่เข้ามาหากินภายในหมู่บ้านหลายตัว บางตัวก็ใช้งวงล้วงเข้าไปในห้องครัวของชาวบ้านแล้วคว้าเอาหม้อที่ใส่อาหารไปกิน ไล่ยังไงก็ไม่ยอมไป ซึ่งผิดวิสัยปกติของช้างป่าเป็นอย่างมาก ชาวบ้านต่างเชื่อกันว่า ช้างเพศเมียเหล่านี้อาจจะไม่ใช่ช้างป่าอย่างที่คิด และอาจจะเป็นช้างบ้านที่มีเจ้าของ และปล่อยให้ช้างเข้าป่าเพื่อต้องการให้มาผสมพันธุ์กับช้างป่าตัวผู้ก็เป็นไปได้ และสิ่งที่ชาวบ้านต้องการก็คือ ขอให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องช้างเข้ามาตรวจสอบดูว่าเป็นช้างป่า หรือช้างบ้านกันแน่
นายนภดล ดวงจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่ามะเดื่อ หมู่ 1 ต.ห้วยเขย่ง เปิดเผยต่อว่า สำหรับคืนที่ผ่านมา พบว่ามีช้างป่าสีดอ อายุประมาณ 20-30 ปี ยังคงอยู่ภายในในหมู่บ้าน ซึ่งช้าง 1 ใน 2 ตัวพบว่ากำลังตกมัน แต่ก็ได้เดินออกจากหมู่บ้านไปในเวลาประมาณตี่ 4 ที่ผ่านมา ส่วนโขลงช้าป่าทั้งหมดได้เข้าไปอาศัยอยู่ในหุบเขาที่มีล้ำน้ำ ไปทางทิศใต้ของหมู่บ้านห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคืนนี้ช้างป่าจะย้อนกลับเข้ามาในหมู่บ้านอีกหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม ตนได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่าได้ทำร้ายช้างอย่างเด็ดขาด เพราะช้างป่าถือว่าเป็นสมบัติ และอยู่คู่บ้านคู่เมืองของเรามาช้านานแล้ว การที่ช้างมาจากพื้นที่อื่น และเข้ามาหากินในพื้นที่หมู่บ้านอาจจะเป็นเพราะพื้นที่ป่าที่ช้างเคยอาศัยอยู่อาจจะแห้งแล้งจนขาดแคลนอาหารก็เป็นได้ แต่ถ้าหากช้างป่าโขลงนี้ไม่ยอมไปไหน ชาวบ้านก็พร้อมที่จะยอมรับ ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมกันหาแนวทางเพื่อให้คนกับช้างป่าอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน โดยหากมีวิธีการจัดการที่ดี พื้นที่บ้านท่ามะเดื่อ หมู่ 1 ต.ห้วยเขย่ง อาจจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอทองผาภูมิ และจังหวัดกาญจนบุรี ก็เป็นได้