xs
xsm
sm
md
lg

เผ่าผู้ไทยเรณูนครบวงสรวง “เจ้าปู่ถลา” ยิ่งใหญ่ ขณะที่เมืองสกลเริ่มแล้วงานสมโภชปึงเท่ากง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

งานบวงสรวงของพี่น้องชนเผ่าผู้ไทยเรณูนคร
นครพนม/สกลนคร - เผ่าผู้ไทยเรณูนครจัดพิธีบวงสรวง “เจ้าปู่ถลา” ยิ่งใหญ่เชือดวัวถวายหัวสดๆ ชี้เป็นประเพณีศักดิ์ของชนเผ่าผู้ไทยจัดขึ้นทุกปี ขณะที่ จ.สกลนครจัดฉลองสมโภชปึงเท่ากง-ปึงเท่าม่าประจำปีอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ที่เมตตาธรรมมูลนิธิสกลนครมีผู้เข้าร่วมพิธีเปิดกันเป็นจำนวนมาก

วันนี้ (11 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากอำเภอเรณุนคร จ.นครพนม ว่าเมื่อคืนที่ผ่านมาในช่วงวันขึ้น 6 ค่ำเดือน 6 ที่บริเวณศาลเจ้าปู่ถลา เขตเทศบาลตำบลเรณู อ.เรณูนคร จ.นครพนม ชนเผ่าผู้ไทยเรณูนครร่วมประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์บวงสรวง “เจ้าปู่ถลา” ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษของเผ่าผู้ไทยเคารพนับถือที่สุดและจัดพิธีนี้ขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ชนเผ่าผู้ไทยโยกย้ายข้ามโขงจากเมืองเว้เมืองวัง ชายแดนลาวติดเวียดนามมาตั้งชุมชนในฝั่งสยาม คือ อำเภอเรณูนครในปัจจุบัน

อดีตปู่ถลา เป็นเจ้าเมืองในอดีตที่มีวิชาอาคมแก่กล้า ดูแลปกปักรักษาบ้านเมืองและชาวผู้ไทยมาแต่อดีต ทำให้ชาวผู้ไทยในอำเภอเรณูนคร มีการก่อตั้งศาลเจ้าปู่ถลาให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้บูชา เพื่อเป็นสิริมงคล และหากใครได้มีโอกาสมาร่วมงานบวงสรวงบูชางานเจ้าปู่ถลาจึงถือเป็นมงคลแก่ชีวิต ทำให้มีความร่มเย็นเป็นสุขทุกปี จะมีลูกหลานสายเลือดชาวผู้ไทยที่เดินทางไปทำงานต่างจังหวัดกลับมาร่วมงานเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว เช่นเดียวกันในปีนี้ที่ทางอำเภอเรณูนครร่วมกับเทศบาลตำบลเรณูนคร และชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม 2558

สำหรับเครื่องสักการบูชาเจ้าปู่ถลาจะเน้นเครื่องสักการบูชาเป็นสีแดง ดอกไม้จะต้องเป็นกุหลาบสีแดง และที่สำคัญเครื่องเซ่นจะต้องเป็นหัววัวเท้า หาง สดๆ และนำเนื้อมาทำลาบดิบใส่เลือด และจะต้องนำส่วนหัวของวัว หาง และขาสี่ขามาถวาย ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณที่ขาดไม่ได้

นายกมล บัวสาย อายุ 72 ปี เจ้าจ้ำ หรือผู้สืบทอดพิธีกรรมบวงสรวงเจ้าปู่ถลา กล่าวว่า ศาลเจ้าปู่ถลา ถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาว อ.เรณูนคร ที่เป็นชนเผ่าผู้ไทย เชื่อว่าสามารถคุ้มครองปกปักรักษาให้ลูกหลานเผ่าผู้ไทยมีความร่มเย็นเป็นสุข แคล้วคลาดปลอดภัย รวมถึงขอพรให้สมหวังได้ มีหลายคนที่มาขอพรแล้วประสบความสำเร็จ เช่น การขอให้ลูกหลานสอบเรียนต่อ หรือสอบเข้าทำงานได้ เป็นเรื่องเหลือเชื่อมีหลายคนได้ตามคำขอพรมาแล้ว ทำให้ในทุกปีจะมีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธานำวัวมาแก้บนตามที่ได้ขอพรเจ้าปู่ถลา สมความมุ่งมาดปรารถนา ปีละไม่ต่ำกว่า 100 ตัว และจะต้องนำมาชำแหละสดๆ ด้านหลังศาลเจ้าปู่ถลา ซึ่งในการบูชาจะมีการนำเหล้าขาว 1 ขวด บุหรี่ ขัน 5 ดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องเซ่นไหว้เป็นหัววัว พร้อมด้วย ขาวัวสี่ขารวมกับหางด้วย พร้อมทั้งมีลาบเนื้อสดใส่เลือดแดง จัดพาอาหาร ส่วนที่เหลือก็จะนำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านลูกหลานกิน ถือเป็นสิริมงคลตามความเชื่อที่มีมาแต่อดีต ซึ่งแต่ละอาทิตย์จะมีคนนำควายมาแก้บนทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด ยกเว้นวันพระ

จ้าจ้ำปู่ถลากล่าวอีกว่า หากเป็นสมัยโบราณดั้งเดิมนั้น การบวงสรวงปู่ถลาต้องเชือดควายสดๆ เซ่นไหว้ตามพิธี แต่ปัจจุบันนี้ควายหายากและมีราคาแพงตัวล่ะ 5 หมื่นขึ้นจึงเปลี่ยนมาเป็นวัวแทนซึ่งก็ใช้ได้ทั้งสองอย่าง

“สกลนคร” สมโภชเจ้าปู่เจ้าย่า ปึงเท่ากง-ปึงเท่าม่า ปีที่ 54

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมจาก จ.สกลนคร ว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (11 ธ.ค.) ที่เมตตาธรรมมูลนิธิสกลนคร นายอดิศักดิ์ เทพอาส ผู้ว่าราชการ จ.สกลนคร เป็นประธานในพิธีเปิดงานฉลองสมโภชปึงเท่ากง-ปึงเท่าม่า หรืองานฉลองเจ้าปู่-ย่า ที่พ่อค้าชาวจีนหรือกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพนับถือ โดยงานได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 08.09 น. ทางคณะกรรมการงานฉลองสมโภชได้อัญเชิญเจ้าปู่-เจ้าย่า และองค์เทพที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นประทับบนรถ โดยแห่ตามไปสถานที่ต่างๆ รอบตัวเมืองสกลนคร เพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่กิจการร้านค้าและประชาชนที่มากราบไหว้บูชา เป็นการแสดงถึงความเคารพสักการะต่อองค์เทพที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่พ่อค้าชาวจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนครให้ความเคารพ กราบไหว้บูชาและนับถือ

สำหรับประเพณีการไหว้เจ้าดังกล่าวได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ ถือเป็นพิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง ขบวนแห่ในปีนี้ได้จัดอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบขบวนใหม่และใช้ผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมในการแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนแห่มังกรทองซึ่งมีความยาวถึง 60 เมตร ต้องใช้ผู้คนร่วมเชิดมังกรถึง 150 คน โดยแบ่งกำลังออกเป็น 4 ชุดคอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ส่วนขบวนสิงโตทองใช้ผู้คนถึง 30 คนมีการแสดงโชว์ลีลาการเชิดสิงโต ขบวนมังกรทองอย่างตระการตา

งานฉลองสมโภชมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 11-16 ธ.ค.เป็นประจำทุกปี ในตอนกลางคืนจะมีการจัดแสดงงิ้ว หรืออุปรากรจีน ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับชมด้วย ส่วนในวันที่ 12-15 รวมเวลา 4 วัน ได้จัดให้มีการประมูลวัตถุมงคลหรือสิ่งของต่างๆ เพื่อนำไปกราบไหว้บูชาหรือประดับประดาที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเอง ครอบครัวและวงศ์ตระกูล


ขบวนแห่งานสมโภชน์ฯประจำปี จ.สกลนคร


กำลังโหลดความคิดเห็น