xs
xsm
sm
md
lg

เรียบง่ายงดงาม! ลำพูนจัดงาน “ลอยกะโหล้ง” แห่งเดียวของภาคเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำพูน - ชุมชนวัดช่างฆ้อง ลำพูนจัดงาน “ลอยกะโหล้ง” หรือลอยกะลาย้อนอดีต เผยเป็นงานเดียวของภาคเหนือที่มีการจัดหลังวันยี่เป็ง 2 วัน มีการสืบทอดปฏิบัติกันมากว่า 70 ปีแล้ว

รายงานข่าวจากจังหวัดลำพูนแจ้งว่า เมื่อค่ำคืนวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมาชาวบ้านชุมชนวัดช่างฆ้อง จังหวัดลำพูน ร่วมใจกันสืบสานการ “ลอยกระโหล้ง” หรือลอยกะลา ลงแม่น้ำกวง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความสวยงามและเป็นระเบียบที่สุด และปีนี้เป็นการจัดงานหลังวันลอยกระทงทั่วไป 2 วัน

พระครูจิรวัฒนโสภณ เจ้าอาวาสวัดช่างฆ้อง เล่าว่า สมัยก่อนการทำกระทงมาลอยยังไม่มากเท่าเดี๋ยวนี้ เมื่อถึงประเพณียี่เป็งชาวบ้านจะพากันไปวัดเพื่อฟังเทศน์มหาชาติ หรือเรียกว่า เทศน์ธรรมหลวง แต่ละบ้านจะมีการทำซุ้มประตูตกแต่งด้วยต้นกล้วย อ้อย โดยการลอยกระโหล้งนี้ทางวัดและชุมชนช่างฆ้องได้จัดงานนี้ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยงานย้อนอดีตประเพณีการลอยกะโหล้งคนในท้องถิ่นได้ปฏิบัติมานานกว่า 70 ปี

ปีนี้ 2558 ตรงกับวันที่ 28 พ.ย. ณ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำกวง ประตูท่านาง ปีนี้จัดหลังงานยี่เป็งหรือลอยกระทง 2 วัน

นอกเหนือจากการลอยกระทงแล้วยังมีประเพณีการจุดประทีปโคมไฟเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ตามความเชื่อของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ

ชาวล้านนาจะลอยกระทงเล็กกันในวันขึ้น 14-15 ค่ำ คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนเล่าว่า กระทงที่ใช้ลอยแต่เดิมนั้นไม่ได้ใช้ใบตองหรือกระดาษที่ทำเป็นรูปดอกบัวเหมือนปัจจุบัน แต่จะใช้กากมะพร้าวที่มีลักษณะโค้งเหมือนเรือทำเป็นกระทง แล้วเอากระดาษแก้วมาตัดประดับตกแต่งให้เป็นรูปนก นำผางประทีปและดอกไม้มาวางไว้เท่านั้น แต่ที่ชุมชนบ้านช่างฆ้อง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีการนำกะลามะพร้าวมาลอยน้ำ ซึ่งได้มีการลอยมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2490 โดยพ่อบุญตัน วิชัยพรหม เป็นผู้ริเริ่ม หลังจากที่เสียชีวิตพิธีลอยกะโหล้งของชุมชนบ้านช่างฆ้องจึงยุติไป

พ่อประทีป ถาน้อย อายุ 76 ปี ชาวบ้านช่างฆ้อง เล่าว่า สมัยที่ตนยังเป็นเด็ก ราวๆ ปี พ.ศ. 2496 เคยเห็นพ่อบุญตันนำกะลามะพร้าวมาลอยในน้ำกวงช่วงเดือนยี่เป็ง ของทุกปี โดยในช่วงหัวค่ำพ่อบุญตันและลูกหลานได้นำกะลามะพร้าวกว่า 1,000 ใบมาลอยที่ท่าน้ำกวงซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านของท่าน พ่อประทีปเล่าอีกว่าเหตุที่พ่อบุญตันนำกะลามะพร้าวมาลอยในช่วงวันลอยกระทงเนื่องจากว่าท่านมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายขนมถาด มีการนำมะพร้าวมาใช้ในการทำขนม ส่วนกะลาที่เหลือท่านได้เก็บสะสมไว้เป็นแรมปีเพื่อนำมาลอยในวันลอยกระทงนั่นเอง

พ่อบุญตัน วิชัยพรหม เป็นชาวบ้านช่างฆ้องโดยกำเนิด ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า พ่อบุญตันเป็นพ่อค้าทำขนมถาดที่มีชื่อเสียงที่สุดของลำพูน ขนมถาดของท่านได้ชื่อว่าอร่อยและมีราคาแพง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ให้พ่อบุญตันเป็นพ่อครัวประจำคุ้มเจ้า เมื่อเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์เดินทางไปต่างอำเภอก็จะพาพ่อบุญตันไปเป็นพ่อครัวประจำด้วยทุกครั้ง

ขนมถาดของพ่อบุญตัน วิชัยพรหม จะเป็นที่ต้องการของชาวบ้านทั่วไป ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าชาวบ้านต่างไปซื้อขนมถาดของพ่อบุญตันเพื่อมาใส่บาตรพระ โดยไปหาซื้อขนมถาดพ่อบุญตันได้ที่ตลาดในเมืองลำพูน และบริเวณหน้าโรงหนังศรีหริภุญชัย หลังจากที่พ่อบุญตันเสียชีวิตลงลูกหลานของท่านได้สืบทอดอาชีพการทำขนมถาดต่อมาจนถึงรุ่นเหลนในปัจจุบัน







กำลังโหลดความคิดเห็น