xs
xsm
sm
md
lg

รมว.แรงงานลงพื้นที่ประมงแสมสาร เร่งขจัดปัญหาการค้ามนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - รมว.แรงงาน ลงพื้นที่ประมงแสมสาร ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก ชุมชนบ้านช่องแสมสาร (PIPO) จ.ชลบุรี พร้อมเข้าเยี่ยมสถานประกอบกิจการประมง เพื่อตรวจคุ้มครองแรงงาน

วันนี้ (19 พ.ย.) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะทำงาน ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก ชุมชนบ้านช่องแสมสาร (PIPO) ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พร้อมเข้าเยี่ยมสถานประกอบกิจการประมง เพื่อตรวจคุ้มครองแรงงาน ตลอดจน รับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมาด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และยาเสพติดอย่างจริงจัง ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นคุ้มครอง ป้องกัน ดูแลสิทธิแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

โดยมี นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสรุปผลดำเนินงาน และเสนอปัญหาข้อขัดข้องให้สามารถดำเนินงานไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาลที่หยิบยกปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน และจริงจังตามแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ที่ให้ความสำคัญต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นหลัก ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงได้มีนโยบายเร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐอย่างเข้มข้น

โดยชลบุรี เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงมีสถานประกอบกิจการและแรงงาน ทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก โดยมีสถานประกอบกิจการ จำนวน 11,574 แห่ง ลูกจ้าง จำนวน 586,527 คน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง และติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

ในส่วนศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก หรือ PIPO กระทรวงแรงงาน ได้จัดเจ้าหน้าที่ของทุกส่วนราชการในสังกัดร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกศูนย์ฯ รวม 28 ศูนย์ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์ PIPO จังหวังชลบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลสัตหีบ การตรวจเยี่ยมในวันนี้ก็เพื่อที่จะได้รับทราบสภาพการทำงาน และสภาพปัญหาที่แท้จริงของนายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.-11 พ.ย.58 มีการตรวจเรือเข้า-ออก จำนวน 10,865 ลำ ลูกจ้าง 134,405 คน แยกเป็นแรงงานไทย 24,850 คน แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ 109,555 คน ทั้งนี้ ไม่พบการกระทำความผิดที่เข้าข่ายแรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานแต่อย่างใด

กสร.ได้เร่งดำเนินการตรวจสภาพการจ้าง และสภาพการทำงานจริงของทุกพื้นที่ ตลอดจนตรวจคุ้มครองแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างเข้มงวด เพื่อให้เกิดผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และขจัดการค้ามนุษย์ด้านแรงงานให้หมดสิ้นไป



กำลังโหลดความคิดเห็น