xs
xsm
sm
md
lg

ถูกกดราคาหนัก! ชาวนาบุรีรัมย์จี้รัฐเร่งเปิดจุดซื้อข้าวเปลือกราคาสูงกว่าตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวนาบุรีรัมย์เรียกร้องรัฐเร่งเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกราคาสูงกว่าท้องตลาด หลังถูกกดราคาเหลือเพียง ก.ก.ละ 7- 8 บาท ซ้ำถูกฝนตกใส่เปียกเสียหาย วันนี้ ( 18 พ.ย.)
บุรีรัมย์ - ชาวนาบุรีรัมย์เรียกร้องรัฐเร่งเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกราคาสูงกว่าท้องตลาด หลังถูกกดราคาเหลือเพียง ก.ก.ละ 7-8 บาท ซ้ำถูกฝนตกใส่เปียกเสียหาย ขณะพาณิชย์ร่วมกับผู้ประกอบการโรงสีเตรียมเปิดตลาดนัดรับซื้อข้าวเปลือกราคาสูงกว่าท้องตลาด 2 บาท ต้นเดือน ธ.ค.นี้

วันนี้ (18 พ.ย.) ชาวนาหลายพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ทยอยนำรถบรรทุกข้าวเปลือกไปเข้าคิวรอขายตามโรงสีต่างๆ อย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร เนื่องจากบางส่วนอยู่ระหว่างการตากข้าวเพื่อลดความชื้น หลังได้รับผลกระทบจากฝนหลงฤดูในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะบางส่วนยังชะลอราคาข้าวให้สูงมากขึ้นกว่านี้ อีกทั้งรอให้หน่วยงานภาครัฐเปิดจุดรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าท้องตลาด หรือไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14-15 บาท เพราะขณะนี้ตามท้องตลาดทั่วไปจะรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 9-10 บาท แต่เมื่อชาวนานำข้าวไปขายกลับถูกกดราคา ทั้งสิ่งเจือปนและความชื้นเหลือเพียงกิโลกรัมละ 7-8 บาทเท่านั้น ทำให้ชาวนาหลายรายต้องชะลอการนำข้าวไปขายเพราะไม่คุ้มทุน โดยจากข้อมูลพบว่าทั้งจังหวัดบุรีรัมย์มีผู้ประกอบการโรงสีที่ขึ้นทะเบียนไว้กว่า 30 แห่ง

อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ได้ร่วมกับการค้าภายในจังหวัด สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการโรงสี เตรียมเปิดตลาดนัดรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อช่วยเหลือชาวนา ครั้งแรกในวันที่ 9-11 ธันวาคมนี้ โดยจะรับซื้อราคาสูงกว่าท้องตลาดกิโลกรัมละ 2 บาท และจะทยอยเปิดตามจุดที่กำหนดในครั้งต่อไป

นายสมพาน นิลนนท์ อายุ 46 ปี ชาวนา ต.บ้านยาง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ บอกว่า ปีนี้ประสบปัญหาทั้งภัยแล้งในช่วงเริ่มเพาะปลูก แต่พอถึงช่วงเก็บเกี่ยวได้รับผลกระทบจากฝนหลงฤดูทำให้ข้าวเปียกชื้นเสียหายเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด 37 ไร่ ทั้งนำข้าวไปขายยังถูกกดราคาซ้ำอีก

จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐได้เร่งเปิดจุดรับซื้อข้าวในราคาที่เป็นธรรมและสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป หากเป็นไปได้ควรจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 14-15 บาทจึงจะอยู่ที่จุดคุ้มทุน เพราะเกษตรกรต้องแบกรับภาระทั้งค่าปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ค่าจ้างไถหว่าน และค่าจ้างเก็บเกี่ยว หากได้ราคาต่ำกว่ากิโลกรัมละ 9-10 บาท จะประสบปัญหาขาดทุน




กำลังโหลดความคิดเห็น