เชียงใหม่/พะเยา - พ่อค้าแม่ค้าขายของกินพื้นบ้าน 2 จังหวัดรับทรัพย์อื้อ ที่เชียงใหม่พ่อค้าขายกระบอกไม้ไผ่ส่งร้านขายข้าวหลามมีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 3 พันบาท ด้านแม่ค้าพะเยาขายของกินพื้นบ้านของไทยใหญ่ที่ขายเฉพาะหน้าหนาวรับทรัพย์ต่อวันไม่ต่ำกว่า 4 พันบาท
อากาศช่วงนี้ของภาคเหนือเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ทำให้มีการนำอาหารบางชนิดที่นิยมกินกันในช่วงฤดูหนาวออกมาจำหน่ายบ้างแล้ว โดยเฉพาะที่จังหวัดพะเยา ข้าวปุกงา ขนมพื้นบ้านของชาวไทยใหญ่ที่พบมากทางภาคเหนือ ปัจจุบันนิยมรับประทานกันมากขึ้น มีผู้คนมาหาซื้อรับประทานกันจำนวนมาก และจะขายดีมากในช่วงฤดูหนาว โดยแม่ค้าข้าวปุกงาในตัวเมืองพะเยาระบุว่าวันหนึ่งจะขายได้ประมาณ 400-500 แผ่น เป็นเงิน 3,000-4,000 บาทต่อวัน
น.ส.พรทิพย์ กินเรือน อายุ 27 ปี ชาว จ.พะเยา และนายบุญธรรม ปุระเสาร์ อายุ 29 ปี สองสามีภรรยาที่ขายข้าวปุกงาเล่าว่า ตนและสามีได้ขายข้าวปุกงามาเป็นเวลา 2 ปี โดยจะขายในตลาดสดเช้าที่เขตเทศบาลเมืองพะเยา ตั้งแต่เวลา 06.00-10.00 น. และช่วงเย็น นอกจากนี้ยังขายตามตลาดนัดถนนคนเดินด้วย โดยจะขายเฉพาะในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น
โดยข้าวปุกงาจะมีลักษณะคล้ายกับข้าวจี่ของภาคอีสาน แต่ข้าวปุกงาทำจากข้าวกล่ำดอย นึ่งสุกแล้วตำผสมกับงาเมือง หรืองาขี้ม่อน จนกลายเป็นเนื้อเดียวกันแล้วนำมาปิ้งกับเตาถ่านให้สุกจนกรอบและโรยด้วยผงน้ำอ้อย มีรสชาตินุ่ม หอมข้าว หวานน้ำอ้อย รสชาติของงาดำนั้นจะต่างจากงาทั่วไปเพราะมีรสชาติหอมคนละแบบกัน เป็นอาหารพื้นบ้านท้องถิ่นของชาวไทยใหญ่ที่มีเสน่ห์ หากินได้ไม่ง่ายนัก มีเฉพาะหน้าหนาวเท่านั้น โดยจะขายในราคาแผ่นละ 10 บาท และขายเป็นชุดมี 10 แผ่น ชุดละ 80 บาท โดยวันหนึ่งจะขายได้ประมาณ 400-500 แผ่น เป็นเงิน 3,000-4,000 บาทต่อวัน มีลูกค้ามาซื้อรับประทานเป็นประจำทุกวันในตอนเช้าและตอนเย็น
สำหรับที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้ไม่ใช่อาหารพื้นบ้านแต่สำหรับฤดูหนาวแล้วเชื่อว่าข้าวหลามเผาจะเป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่นิยมรับประทานกัน โดยนายจรัส วังกุล อายุ 48 ปี ชาวบ้านอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีอาชีพตัดไม่ไผ่จากป่าธรรมชาติในพื้นที่ โดยตัดไม้ไผ่ขนาดประมาณ 1 ฟุต มัดใส่ถุงละ 25 กระบอก นำมาส่งขายให้พ่อค้าแม่ค้าขายข้าวหลามในตัวเมืองเชียงใหม่ ทุกวัน ราคากระบอกละ 1 บาท 50 สตางค์ แต่ละวันส่งขายไม่ต่ำกว่า 3 พันกระบอก สร้างรายได้เป็นอย่างดี วันละไม่ต่ำกว่า 3 พันบาท ยิ่งช่วงอากาศหนาวข้าวหลามขายดี กระบอกข้าวหลามก็จะขายดีตามไปด้วย
โดยใช้เวลากลางวันไปตัดกระบอกไม้ไผ่เตรียมไว้ ช่วงเช้ามืดก็จะตระเวนขับรถส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่อำเภอแม่แตงจนถึงตัวเมืองเชียงใหม่ ไม้ไผ่ที่ตัดมาขายต้องเลือกขนาดที่พอเหมาะ ตัดเป็นท่อนขนาดไม่เกิน 1 ฟุต หากเป็นไม้ไผ่ที่ออกลำต้นใหม่ภายใน 1 เดือนจะมีเยื่อไม้ไผ่หนาเมื่อนำไปเผาทำเป็นข้าวหลามจะมีกลิ่นหอมของเนื้อไม้ไผ่ ทำให้ข้าวหลามที่เผามีกลิ่นหอมชวนน่ารับประทาน แต่ละกระบอกจะใช้เวลาเผานานประมาณ 1 ชั่วโมงถึงจะสุก และข้าวเหนียวที่นำมาทำข้าวหลามต้องเป็นข้าวเก่า หากเป็นข้าวใหม่เมื่อสุกจะแฉะไม่อร่อยเหมือนข้าวเก่า
นางนภาภรณ์ มูลเมือง แม่ค้าขายข้าวหลามย่านถนนโชตนา หน้าตำรวจวิทยาการ 32 เชียงใหม่ ซึ่งจะเผาข้าวหลามใหม่แบบสดๆ ขายให้ลูกค้าซึ่งมีทั้งประชาชน นักเรียนมาอุดหนุน แต่ละวันขายได้ไม้ต่ำกว่า 200 กระบอก หากอากาศหนาวจะขายได้มากถึง 300-400 กระบอก มีทั้งข้าวหลามไส้กะทิ ไส้เผือก สังขยา ข้าวเหนียวดำ และไส้งา