xs
xsm
sm
md
lg

ส.วิทยาศาสตร์ทางทะเลร่วม 3 หน่วยงานจัดแข่งเรือใบ ฟื้นอาชีพแล่นใบหาดบางแสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพการแล่นใบที่ชายหาดบางแสนในอดีต
ศูนย์ข่าวศรีราชา - สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วม 3 หน่วยงาน จัด “แข่งขันเรือใบ Bangsean Regatta Burapha University Anniversary 60 years” หวังฟื้นกิจกรรมแล่นใบบริเวณชายหาดบางแสน ที่หายไปนานเกือบ 40 ปี และยังเป็นการเล่าขานตำนานวิถีชีวิตชาวบางแสนในอดีต โดยจะมีเรือใบจำนวน 100 ลำ ร่วมแข่งขันระหว่างวันที่ 21-22 พ.ย.นี้

อาจารย์เสถียร ปุรณะวิทย์ เลขานุการคณะกรรมการจัดการแข่งขัน “เรือใบ Bangsean Regatta Burapha University Anniversary 60 years” เผยว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวจะมีขึ้น ณ ชายหาดบางแสน ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2558 โดยมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูการแล่นใบบริเวณชายหาดบางแสน ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง นอกจากนั้น ยังเป็นการเล่าขานตำนานวิถีชีวิตของชาวบางแสนที่หายไปนานเกือบ 40 ปี ให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่าในอดีตชาวบางแสนเคยประกอบอาชีพในการแล่นใบเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว โดยใช้พลังงานสะอาด

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการฟื้นฟูกิจกรรมแล่นใบให้เกิดขึ้น รวมทั้งยังส่งเสริมให้เด็ก และเยาวชนได้พัฒนาความสามารถ สร้างประสบการณ์สู่การเป็นนักกีฬาเรือใบในระดับนานาชาติ ที่สำคัญยังเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่มหาวิทยาลัยบูรพา ครบรอบ 60 ปี “ตรีสิกขสถานพัชรสมโภช” ในปี 2558
เสน่ห์ของการแล่นใบอยุ่ที่การท้าทายและความพร้อมของนักกีฬา
การแข่งขันแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ประเภท Laser Radial ชาย-หญิง, ประเภท Laser 4.7 ชาย-หญิง (อายุไม่เกิน 16 ปีบริบูรณ์) และประเภท Optimist Division A และ Optimist Division B ชิงถ้วยรางวัล “ตรีสิกขสถานพัชรสมโภช” ครบรอบ 60 ปี มหาวิทยาลัยบูรพา 2558 จำนวน 28 รางวัล

อาจารย์เสถียร บอกว่า การแล่นใบบริเวณชายหาดบางแสน เริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี 2490 ที่เครื่องยนต์ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย ชาวบ้านเขตบางแสน จึงนำเรือประมงเล็กมาติดตั้งใบเพื่อให้บริการแล่นใบแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งเรือใบจะแล่นไปในทิศทางที่ผู้บังคับเรือกำหนด เรือใบ 1 ลำจะสามารถบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ จำนวน 10 คน กระทั่งปี 2520 กิจกรรมแล่นใบบริเวณชายหาดบางแสน ได้สูญหายไปจากการเข้ามาของเรือสกูดเตอร์ และเรือที่ใช้เครื่องยนต์ที่ผู้ประกอบการเริ่มนำเข้ามาให้บริการนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีความสะดวก และทันสมัย

“เมื่อได้สอบถามนักแล่นใบในรุ่นเก่าๆ ก็ทำให้รู้ว่า ในวันนี้จังหวัดชลบุรี เรือนักแล่นใบอยู่เพียงท่านเดียว ซึ่งก็ปัจจุบันที่ได้บวชอยู่ที่วัดไตรมุก ชื่อหลวงตาถวิล ซึ่งผมรู้จักกับท่านเมื่อปี 2518-2520 โดยท่านเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มทำการแล่นใบบริเวณชายบางแสน ซึ่งในสมัยนั้นผมยังเป็นนิสิตก็เคยช่วยท่านหมุนเรือ เพื่อนำนักท่องเที่ยวออกแล่นใบในทะเล ถือเป็นภาพความทรงจำที่ยังประทับใจ”

โดยมหาวิทยาลัยบูรพา ถือเป็น 1 สถาบันที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์การแล่นใบ และส่งเสริมกีฬาเรือใบ ด้วยการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตได้ฝึกทักษะการแล่นเรือใบขั้นพื้นฐาน 1 คอร์ส ซึ่งจะทำการเรียนสอนที่ชายหาดบางแสน เมื่อนิสิตมีทักษะมากพอ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอสัตหีบ จะจัดครูเข้าสอนเทคนิคการแล่นขั้นสูง รวมถึงสอนกติกาในการแข่งขัน และยังเปิดเป็นวิชาเลือกเสรีให้แก่นิสิตในคณะต่างๆ จนทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ มีบุคลากร และนักกีฬาเรือใบทีมชาติ ที่ได้แชมป์ระดับซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์หลายคน

“ปัจจุบันกีฬาเรือใบได้รับความสนใจจากนิสิตคณะต่างๆ มากขึ้น เพราะเสน่ห์ของการแล่นใบอยู่ที่การใช้พลังงานลม ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาด และสิ่งที่อยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคนคือ การแล่นใบ เป็นกีฬาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรด และทรงเล่นกีฬาประเภทนี้ ที่สำคัญความท้าทายของการแล่นใบอยู่ที่การบังคับเรือให้วิ่งทวนลม ซึ่งจะต้องใช้เทคนิคที่ทุกคนได้เรียนมาปรับใช้ นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของกระแสน้ำ และกระแสลมที่เข้ามาช่วยสร้างความท้าทายให้การแล่นใบสนุกขึ้น เมื่อเป็นการแข่งขัน นักกีฬาจะต้องมีไหวพริบปฏิภาณที่ดีจึงจะสามารถแล่นใบได้ดี นอกจากนั้น ร่างกายต้องมีความแข่งแรง เพราะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นต่อตัวเรือให้ได้”

อาจารย์เสถียร ยังบอกอีกว่า การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลเมืองแสนสุข ในการสนับสนุนสถานที่สำหรับจัดการแข่งขัน สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สนับสนุนเรือที่ใช้ในการแข่งขันโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมทั้งบุคลากรในการจัดแข่งขัน และสรุปผล คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล โดยเชื่อว่าจะมีเรือลงทำการแข่งขันที่จะปล่อยลงสู่ทะเลพร้อมกันหมดมากถึง 100 ลำ สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียด กติกาการสมัคร และดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ WWW.BUU.AC.TH
อ.เสถียร ปุรณะวิทย์
กำลังโหลดความคิดเห็น