ศูนย์ข่าวศรีราชา - วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หวังให้นิสิตหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่รองเลขาธิการ กปร.เผยเป็นเรื่องน่ายินดีที่ ม.บูรพา เล็งเห็นถึงความสำคัญในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาพัฒนาเป็นหลักสูตรสอนคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจงานที่พระองค์ทรงทำมาตลอด 60 ปีมากขึ้น
วันนี้ (11 ต.ค.) วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับนิสิตหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสาธารณะ รุ่นที่ 6 ได้จัดงานเสวนาเรื่อง ประชาชนได้อะไรจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ อาคารวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีอาจารย์ลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร.เป็นประธานเปิดงาน และมี นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ประธานมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และอดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรฯ นายสมศักดิ์ เครือวัลย์ ปราชญ์ด้านเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดระยอง เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจในการพัฒนาองค์กร เพื่อการพัฒนาด้านการเกษตรและชุมชน” โดยมี ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยฯ ให้การต้อนรับ และมีนิสิตทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอกกว่า 100 คนเข้าร่วม
อาจารย์ลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร.กล่าวว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานไว้ตลอดระยะเวลา 60 ปี ที่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการในพระราชดำริต่างๆ กว่า 4,500 โครงการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องอัศจรรย์ เพราะผลที่ออกมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ และอยู่ได้แบบยั่งยืนเช่นนี้เกิดจากพื้นฐานการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ และยังเป็นเรื่องที่ส่งผลในระยะยาว
โดยมูลนิธิชัยพัฒนา ภายใต้การนำของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการฯ ได้น้อมนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาอย่างเนื่อง และถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ตลอดระยะเวลาเกือบ 9 ปีที่ผ่านมา วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงน้อมนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนา และปรับให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเฉพาะโจทย์ที่เกี่ยวกับการพัฒนาตามวิถีที่เปลี่ยนแปลงไปตามสังคมโลกที่ต้องเจอผลกระทบต่างๆ มากมาย
“แนวคิดการพัฒนาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ค่อนข้างทันสมัย และสามารถปรับใช้ในการพัฒนาได้ทุกยุค ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่า แนวคิดการพัฒนาเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โด่งดังไปทั่วโลกแล้ว และนายกรัฐมนตรี ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และท่านก็ยังเป็นผู้นำเรื่องดังกล่าวในเวทีโลก ที่ได้โน้มนำปรัชญาตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ซึ่งก็พิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่ประเทศไทยดำเนินมาตลอดระยะเวลา 60 ปี เป็นเรื่องที่ดี และจะต้องมีการสืบทอดให้แก่เด็กรุ่นใหม่ได้เข้าใจ และรับทราบ ขณะที่หลักสูตรที่ ม.บูรพา ได้ดำเนินการมาย่างเข้าสู่ปีที่ 9 ถือเป็นความน่าภูมิใจที่ ม.บูรพาให้ความสำคัญ และยกมาเป็นบทเรียนในการทำธุรกิจสำหรับคนรุ่นใหม่ด้วย” อาจารย์ลลิต กล่าว
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่กล่าวว่า วิทยาลัยฯ มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่การส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางวิชาการให้แก่นิสิตในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสาธารณะ ซึ่งการเสวนาในหัวข้อดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความรู้ และเข้าใจ รวมทั้งปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมายาวนาน จนสามารถถ่ายทอดความรู้ และแรงบันดาลใจในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้จนประสบผลสำเร็จ
จุดประสงค์ของการจัดเสวนาในครั้งนี้ยังมีเป้าหมายให้นิสิต บุคลากร และประชาชนได้รับทราบถึงประโยชน์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างแท้จริงอีกด้วย