พะเยา - ผู้ว่าฯ พะเยายกคณะตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยพะเยา ชี้เจอวิกฤตแล้งจริง วันนี้แหล่งน้ำดิบ 3 แห่งเหลือน้ำป้อนให้ผลิตน้ำประปาได้อีก 100 วันเท่านั้น แถมสั่งเจาะบาดาลแล้วก็ยังมีน้ำไม่พออีก จนต้องเร่งรณรงค์ประหยัดน้ำ พร้อมเร่งหาแหล่งน้ำเสริม
วันนี้ (4 พ.ย.) นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อเยี่ยมชมนวัตกรรมของคณะต่างๆ พร้อมทั้งรับทราบปัญหาและแนวทางแก้ไขต่างๆ ของทางมหาวิทยาลัยพะเยา
นอกจากนี้ยังได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับภัยแล้งเป็นพิเศษ เนื่องจากขณะนี้นิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยพะเยามากกว่า 20,000 คนต้องประสบกับการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค เพราะแหล่งกักเก็บน้ำดิบแห้งขอดทำให้ไม่สามารถส่งน้ำมายังมหาวิทยาลัยพะเยาเพื่อผลิตน้ำประปาได้
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยพะเยาใช้น้ำจากแหล่งน้ำ 3 แห่ง ประกอบด้วย อ่างนาปอย ความจุ 357,000 ลบ.ม. ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำในอ่างเพียง 26,775 ลบ.ม. คิดเป็นเพียงร้อยละ 7.5 และไม่สามารถจ่ายน้ำให้แก่มหาวิทยาลัยพะเยาผลิตน้ำประปาได้ ขณะที่อ่างเก็บน้ำ 1 ความจุ 400,000 ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำ 2 ความจุ 1,050,220 ลบ.ม. มีปริมาณน้ำรวมคงเหลือที่จะสามารถสูบน้ำมาผลิตน้ำประปาได้ประมาณ 197,700 ลบ.ม.เท่านั้น รวมแหล่งน้ำที่ใช้ในปัจจุบัน 3 แห่งนี้จะสามารถใช้ได้อีกประมาณเพียง 100 วันเท่านั้น
เบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยพะเยาได้มีมาตรการในการแก้ไขด้วยการรณรงค์ให้นิสิต และบุคลากรใช้น้ำอย่างประหยัด, ขุดลอกแหล่งน้ำ, หาแหล่งน้ำเสริม รวมถึงทางจังหวัดได้ประสานสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 ลำปางให้ความช่วยเหลือ โดยการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสำรวจแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อขุดเจาะน้ำบาดาล แต่จากการขุดเจาะสำรวจเบื้องต้นพบว่าปริมาณน้ำใต้ดินยังไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้บรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และสามารถใช้ได้ยาวนานที่สุด โดยขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยต้องกำหนดเวลาจ่ายน้ำให้แก่นิสิตและพนักงานทั้งหมดเพื่อยืดเวลาการใช้น้ำให้ยาวนานยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่เข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปาเพื่อช่วยเหลือมหาวิทยาลัยอีกทาง รวมถึงการหาแหล่งน้ำใต้ดินในพื้นที่ต่างๆ แก้ไขปัญหาแล้งของจังหวัดด้วย เพราะแหล่งน้ำใหญ่ๆ ในพื้นที่ก็มีปริมาณน้ำเหลือน้อยเช่นกัน