ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - อาทิตย์อัสดงเหนืออ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคอง เขายายเที่ยง โคราช แหล่งท่องเที่ยวใหม่
วันนี้ (3 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครราชสีมาว่า สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดของจังหวัดนครราชสีมาในช่วงต้นฤดูหนาว อากาศดี ปลอดโปร่ง โล่ง ลมแรง เย็นสบาย ท่ามกลางความสวยงามของทิวทัศน์ที่สวยงามยามอาทิตย์อัสดง คือ บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา (โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ) ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกังหันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
หากมองลงไปด้านล่างอ่างพักน้ำฯ แล้วจะพบกับทิวทัศน์สวยงามของอ่างเก็บน้ำลำตะคอง แหล่งน้ำสายหลักหล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนชาวโคราช ที่พาดผ่านด้วยถนนมิตรภาพ แสงไฟจากรถยนต์ที่สัญจรไปมาระยิบเข้าสายตานักท่องเที่ยวประหนึ่งเป็นความงามที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางพระอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้า เป็นภาพแห่งความประทับใจของนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้อย่างมาก
นอกจากจะได้ชมความสวยงามรอบๆ อ่างพักน้ำฯ แล้ว นักท่องเที่ยวยังได้แวะสักการะพระพุทธรูป นาคปรกที่สวยงามตั้งตระหง่านรับลมอยู่ริมขอบอ่างฯ จุดกึ่งกลาง
ทั้งนี้ จากการเก็บสถิติความเร็วลมที่ระดับความสูง 45 เมตรของ กฟผ.เพื่อตรวจวัดศักยภาพพลังงานลมสำหรับผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 พบว่า ที่บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา แห่งนี้มีศักยภาพพลังงานลมดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีลมพัดถึง 2 ช่วง คือ ช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ระหว่าง พ.ย.ถึงปลาย ธ.ค.) และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ระหว่าง พ.ค.ถึงกลาง ต.ค.) พบว่าบริเวณนี้ที่มีศักยภาพลมดีที่สุดอยู่บริเวณสถานีลำตะคอง มีความเร็วลมเฉลี่ย 6.14 เมตรต่อวินาที
ในขณะที่แหล่งที่มีศักยภาพลมดีรองลงมา ได้แก่ แหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต (5.65 เมตรต่อวินาที) และบ้านอ่าวไผ่ จังหวัดชลบุรี (5.19 เมตรต่อวินาที) ซึ่งสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้
โดยระบบผลิตไฟฟ้ากังหันลมดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี แต่ผลิตและนำเข้าจากประเทศจีน มีความสูง 68 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 64 เมตร ขนาดกำลังการผลิต 1.25 เมกะวัตต์/ชุด ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 2 ชุด รวมกำลังการผลิต 2.5 เมกะวัตต์ ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 145 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 4.6 ล้านหน่วย ทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ 1.1 ล้านลิตรต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2,300 ตันต่อปี