ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการชี้การท่องเที่ยวชื่นชมวาฬบรูด้าในอ่าวไทยเป็นดาบสองคม วอนท้องถิ่นตั้งกติกาลงเรือชื่นชมใกล้ชิด หวั่นความสนุกสนาสร้างความรำคาญ และทำร้ายเจ้าวาฬจนไปหากินที่อื่น แนะทำการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยการปลูกฝังองค์ความรู้ทางชีวภาพของธรรมชาติ
ดร.วรเทพ มุธุวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวชื่นชมวาฬบรูด้า หรือวาฬแกลบในท้องทะเลอ่าวไทยมีขึ้นมาประมาณ 5 ปี แต่สำหรับต่างประเทศทั้งออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกามีมานานแล้ว ซึ่งจะมีกฎเกณฑ์ และแนวปฏิบัติเป็นมาตรฐานสากลโลก ซึ่งทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็ได้นำเกณฑ์ปฏิบัติมาปรับใช้จัดทำเป็นรูปเล่มขึ้นมา จนในที่สุดก็มีการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวชื่นชมธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
สำหรับหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติเพื่อชมวาฬบรูด้านั้น เบื้องต้น ได้มีการตั้งกติกาแนวทางปฏิบัติไว้ดังนี้
1.การแล่นเรือเข้าชมวาฬนั้นห้ามแล่นเรือดักหน้า หรือหลังทิศทางการว่ายน้ำของวาฬ ซึ่งสามารถสังเกตทิศทางการว่ายน้ำได้หลังจากที่วาฬโผล่ขึ้นมาหายใจผิวน้ำ โดยให้แล่นเรือด้านข้างของทิศทางการว่ายของวาฬ
2.ในระยะตั้งแต่ 400 เมตร ใกล้วาฬ เป็นเขตที่ต้องใช้ความเร็วต่ำ โดยระยะ 300-400 เมตร ต้องลดความเร็วเรือเหลือ 7 น็อต และเมื่อเข้าใกล้ในระยะ 100-300 ต้องลดความเร็วลงอีกเหลือ 4 น็อต (1 น็อต = 1.85 กม.ต่อชม.)
3.เรือต้องอยู่ห่างจากวาฬในระยะ 100 เมตร และในระยะนี้ไม่ต้องดับเรือ เดินเครื่องเบาไว้ เพื่อให้วาฬรับรู้ถึงตำแหน่งเรือ แต่หากเกิดมีวาฬว่ายเข้ามาใกล้เรือเอง ต้องดับเครื่องเพื่อป้องกันใบพัดทำอันตรายวาฬ
ดร.วรเทพ เผยต่อว่า การท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้านั้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าทำไม่ดีก็จะเกิดโทษได้ถือเป็นดาบสองคมที่ทุกฝ่ายควรให้ความระมัดระวัง ซึ่งท้องถิ่น หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นควรสร้างความตระหนัก และความหวงแหนให้ชาวบ้าน ต้องมีการตั้งกติกาการจัดการต้องมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่ใช่เพียงท่องเที่ยวแบบสนุกสนาน ตะโกนโหวกแหวกเสียงดังจะสร้างความรำคาญให้วาฬได้
สิ่งที่ควรระวังคือคนเรือต้องรู้จักนิสัยของวาฬ ต้องมีการดับเครื่องเรือทุกครั้งที่เข้าใจซึ่งวาฬจะรับรู้ตำแหน่งเรือได้เอง และหากมีการติดเครื่องเรือขณะเข้าใกล้ อาจทำให้ตัววาฬได้รับบาดเจ็บจากใบพัดเรือก็เป็นได้ ต้องทำให้เป็นการท่องเที่ยวแบบต่อยอดองค์ความรู้ทางชีวภาพของธรรมชาติด้วย ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาชีวิตสัตว์โลก และเข้าใจ และตระหนักในสิ่งแวดล้อม ถ้าทำไม่ถูกวิธีทำให้วาฬตกใจก็เหมือนเป็นการไล่ให้วาฬไปหากินแพลงก์ตอนที่ท้องทะเลอื่นซึ่งมีความเป็นไปได้สูง
“ในเรื่องของการจัดการเราต้องมีกติกาชัดเจน โดยเอาคนในท้องถิ่นมาให้ความรู้ และอบรมก่อนตั้งเป็นกลุ่มที่ยึดเอาหลักเกณฑ์การปฏิบัติของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต่างประเทศได้วางกติกาการชมวาฬจนกลายเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้ เพราะเขามีกฎเกณฑ์ชัดเจน ในประเทศเราก็ต้องทำด้วย ทั้งเพื่อด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวจะสามารถพัฒนาร่วมกันได้อย่างถูกทิศทางต่อไป”