บุรีรัมย์ - อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดการประชุมสัมมนาวิชาการ สันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2558 พร้อมย้ำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องปรับตัวให้สอดรับต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป
วันนี้ (28 ต.ค.) นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการสันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2558 ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมเทพนคร อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งสันนิบาตเทศบาลจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเจ้าภาพ โดยมีผู้บริหารเทศบาล และปลัดเทศบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด 889 เทศบาล ประมาณ 1,600 คน เข้าร่วมสัมมนา
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้แก่คณะผู้บริหารสมาชิกสภาเทศบาล และพนักงานเทศบาล ได้มีความรู้ความเข้าใจในระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้รับทราบรูปแบบ ทิศทาง และความเป็นไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอนาคต และมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งยังมีวิสัยทัศน์ในการบริหารในอันที่จะพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อให้ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหาแนวทางในการพัฒนารายได้ให้ท้องถิ่น และการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และเพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการบริหารท้องถิ่นระหว่างผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล และพนักงานเทศบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับหัวข้อในการสัมมนาครั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บรรยายพิเศษเรื่อง นโยบายและทิศทางการบริหารงานขององค์กรปกครองท้องถิ่น และรองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บรรยายในหัวข้อ รูปแบบองค์กรปกครองท้องถิ่นในอนาคต และนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 บรรยายในหัวข้อองค์กรปกครองท้องถิ่นกับข้อทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล และพนักงานเทศบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก
นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการและพัฒนาท้องถิ่น โดยการให้บริการสาธารณะอย่างทั่วถึง และตรงกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจะต้องปรับตัวให้สอดรับต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งบริบทของสังคม เศรษฐกิจการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป นโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่จะมีมากขึ้น และภาคของการตรวจสอบ ควบคุม กำกับดูแลที่ต้องเข้มงวดมากขึ้นตามไปด้วย จำเป็นที่ชาวท้องถิ่นเราจะต้องสร้างความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้สอดรับต่อสถานการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน