อุดรธานี - ชาวชุมชนดงวัด ร่วมสืบสานประเพณีการกวน “ข้าวสำมะปิ” หรือกวนข้าวทิพย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เชื่อหากได้รับประทานแล้วสมองดี เกิดปัญญาแก่ผู้บริโภค
ใกล้ถึงวันออกพรรษา ชาวอีสานมีประเพณีหนึ่งที่สืบทอดกันมาตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเมื่อครั้งพุทธกาล คือ การกวนข้าวสำปิ หรือข้าวทิพย์ ซึ่งถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาช้านาน โดยที่ชุมชนดงวัด เขตเทศบาลนครอุดรธานี ยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อมาเช่นกัน
นางพร จันทร์แซม อายุ 53 ปี ประธานชุมชนดงวัด กล่าวถึงเครื่องปรุงข้าวสำมะปิ มีส่วนประกอบมากกว่า 50 ชนิด เช่น น้ำนมข้าว ข้าวเม่า มะพร้าว น้ำอ้อย น้ำตาล แป้ง ข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว แป้งสาลี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เผือก งา มันเทศ มันสาคู น้ำผึ้ง ฟักทอง ข้าวตอก นมสด นมข้น เนย กล้วย ข้าวโพด ใบเตย น้ำลอยดอกมะลิ เป็นต้น ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้ชาวบ้านจะนำมาคนละนิดคนละหน่อยเพื่อมาร่วมทำข้าวสำมะปิกัน
สำหรับขั้นตอนในการปรุงถือว่ายุ่งยากมากพอสมควร โดยเริ่มจากนำวัตถุดิบที่เตรียมไว้ทั้งหมด มานึ่ง บ้างก็ต้มให้สุก ก่อนจะนำทุกอย่างมากวนให้เข้ากันแต่อย่าใช้ไฟแรงเกินไป โดยการกวนจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อกวนเสร็จก็จะเทลงถาดรอให้แห้ง แล้วตัดเป็นชิ้นนำไปใส่บาตร หรือถวายพระสงฆ์ที่วัดในตอนเช้า
นายสำเนียง ดีสะเกตุ อายุ 82 ปี ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชน เปิดเผยว่า การกวนข้าวสำมะปิในปัจจุบันนิยมทำกันในช่วงก่อนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงก่อนออกพรรษา โดยแต่ก่อนจะใช้วัดเป็นสถานที่กวนข้าวสำมะปิ เพราะว่าวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดมา แต่ปัจจุบันชาวบ้านได้เปลี่ยนสถานที่มาเป็นบ้านผู้นำชุมชน หรือบ้านใครก็ได้ตามแต่ความสะดวก
นายสำเนียง กล่าวว่า ครั้งเมื่อตนยังหนุ่มๆ การกวนข้าวทิพย์ต้องกวนในวัด วัดที่กวนต้องเตรียมการหลายอย่าง เช่น บริเวณที่จะกวนข้าวทิพย์ต้องมีเครื่องสักการบูชา อุปกรณ์การกวนข้าวทิพย์ ได้แก่ เตา ฟืน กระทะใบบัว ไม้พาย และที่สำคัญต้องมีเด็กหญิงพรหมจารีย์ นุ่งขาวห่มขาว กวนกระทะละ 2 คน แล้วแต่จะกวนกี่กระทะ แต่ปัจจุบันความเจริญได้เข้ามามีอิทธิพล ทำให้พิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้หายไป ชาวบ้านได้ถือเอาความสะดวกเป็นหลัก
สำหรับการกวนข้าวสำมะปิ เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่จะทำในงานประเพณีออกพรรษาตามความเชื่อของชาวอีสาน ซึ่งได้ปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ข้าวสำมะปิ หรือข้าวทิพย์ ในพุทธประวัติเรียกว่า ข้าวมธุปายาส เป็นข้าวทิพย์ที่นางสุชาดา บุตรีกฏุมพี ในสมัยพุทธกาล จัดปรุงขึ้นแล้วนำไปถวายพระมหาบุรุษก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งหลังจากพระองค์ได้เสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา ก็ได้ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณในย่ำรุ่งของคืนนั้นเอง ชาวบ้านจึงเชื่อว่าข้าวมธุปายาสเป็นอาหารทิพย์ช่วยให้สมองดี เกิดปัญญาแก่ผู้บริโภค