xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ดผลักดันข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ขึ้นทะเบียน GI

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอนุสรณ์ แก้วกังวาน ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด
ร้อยเอ็ด - พ่อเมืองร้อยเอ็ด เล็งผลักดันข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่มีพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ในจังหวัดขึ้นทะเบียนสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) หรือ “GI” จากกลุ่มสหภาพยุโรป และเป็นสินค้าจากอาเซียนชิ้นแรกที่ได้รับขึ้นทะเบียน เหตุทำให้มีราคาสูงขึ้นถึง 2.23 เท่า หวังเป็นสินค้าสร้างรายได้เข้าประเทศ ให้เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของการเดินหน้าประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาล

นายอนุสรณ์ แก้วกังวาน ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า จ.ร้อยเอ็ด มีนโยบายเร่งขับเคลื่อนแนวทางสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ตามแนวทางของ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ตั้งเป้าสนับสนุนสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “GI” (Geographical Indication) ที่จะมีราคาสูงขึ้นเฉลี่ย 223% เพราะผู้บริโภคชาวยุโรปชอบสินค้าที่มี “story” ซึ่งสินค้าที่มี GI จะตอบโจทย์ข้อนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่ง EU มีนโยบายคุ้มครองสินค้าและส่งเสริมคุณภาพอาหารผ่านระบบ GI ซึ่งปัจจุบันมี 3 ระบบ

ข้อมูลเมื่อปี 2553 ระบุว่า สินค้า GI ของ EU ที่จำหน่ายไปทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 54.3 พันล้านยูโร มี 4 ประเทศที่เป็นผู้นำด้านผลิตสินค้า GI คือ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และอังกฤษ ซึ่งที่น่าสนใจคือ มูลค่าเพิ่มของสินค้า GI โดยเฉลี่ยมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปถึง 2.23 เท่า สร้างมูลค่ามหาศาลให้แก่เศรษฐกิจของยุโรป และเป็นสินค้าที่เป็น “Signature” ของของยุโรป

จ.ร้อยเอ็ด เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพมีคุณภาพสูงสุดเป็นที่ยอมรับสูง โดยข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นสินค้าจากอาเซียนประเภทแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จาก EU “THUNG KULA RONG-HAI HOM MALI RICE : TKR” ปลูกในพื้นที่ราบทุ่งกุลาร้องไห้ครอบคลุม 5 จังหวัดอีสาน โดยมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ร้อยเอ็ด ที่ข้าวหอมมะลิของที่นี่จะขึ้นชื่อว่ามีความหอมมากกว่าที่อื่น

ดังนั้น จ.ร้อยเอ็ด และกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะร่วมกันผลักดันสินค้า GI ของไทยให้ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก EU ให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าแล้ว ยังเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้แก่ “ผู้ผลิตสินค้าท้องถิ่น” ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ผู้ผลิตชาวไทย เพื่อจะผลักดันให้เป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศที่นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของการเดินหน้าประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล



กำลังโหลดความคิดเห็น