ไอศกรีมนมต้นข้าวอ่อนข้าวหอมมะลิปราศจากน้ำตาล อีกหนึ่งผลงานของนักวิจัยไทย นายณัฐชรัฐ แพกุล นักวิจัย และอาจารย์ประจำสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี นำต้นอ่อนข้าวหอมมะลิที่งอกหลังการเกี่ยวข้าว ที่มีสารคลอโรฟิลล์สูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง พัฒนาในด้านของคุณค่าทางโภชนาการ และใช้ มอลทิมอล สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ซึ่งเป็นสารให้ความหวานในกลุ่มของน้ำตาลแอลกอฮอล์ ที่ให้พลังงานต่ำ
นายณัฐชรัฐ แพกุล เล่าว่า ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง นอกจากความเหนียวนุ่มของข้าวที่ดีแล้ว ยังมีกลิ่นหอมคล้ายดอกมะลิ จึงส่งผลให้เป็นข้าวที่ชื่นชอบของผู้บริโภค แต่ในปัจจุบันราคาข้าวในท้องตลาดไม่ดีเท่าไร ตนเองจึงอยากช่วยชาวนา คิดค้นเมนูจากข้าว ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะนิยมนำเมล็ดข้าวมาทำ เพื่อสร้างมูลค่าและโภชนาการทางอาหาร โดยจากการสังเกตหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ จะมีต้นข้าวหอมมะลิที่งอกขึ้นมาใหม่ จากต้นเดิม ตนเองจึงนำมาทำการศึกษาต้นข้าวหอมมะลิ พบว่า ในต้นข้าวอ่อนหอมมะลิมีสารต้านอนุมูลอิสระและสารคลอโรฟิลล์สูง นอกจากนี้ ยังมีเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัว คือ กลิ่น สี มีสีเขียว
สำหรับไอศกรีมเป็นอาหารหวานที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย แต่จัดเป็นอาหารที่ให้พลังงาน ไขมัน และนํ้าตาลสูง ตนเองจึงอยากวิจัยและพัฒนาคุณค่าทางโภชนาการ โดยการใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล โดยมอลทิทอลเป็นสารให้ความหวานที่ใกล้เคียงกับน้ำตาล มีรสชาติ และความหวานที่ใกล้เคียงน้ำตาล อีกทั้งยังมีพลังงานต่ำ ซึ่งมีเพียง 2.1 กิโลแคลอรี โดยที่ในน้ำตาลที่บริโภคโดยทั่วไปมีถึง 4 กิโลแคลอรี ซึ่งมอลทิทอลเป็นสารให้ความหวานในกลุ่มของน้ำตาลแอลกอฮอล์ มีผลทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถนำเป็นเป็นอาหารได้จึงไม่ก่อให้เกิดฟันผุ และเพื่อเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไอศกรีมในแง่การนำส่วนอื่นของพืชเศรษฐกิจที่ไม่ได้ไปบริโภคโดยทั่วไปนำมาใช้ประโยชน์ ที่สร้างความแตกต่างจากไอศกรีมทั่วไป จึงได้นำต้นอ่อนข้าวหอมมะลิที่งอกหลังการเกี่ยวข้าว มาเป็นส่วนผสม เกิดเป็นเมนูอาหารหวาน “ไอศกรีมนมต้นข้าวอ่อนข้าวหอมมะลิปราศจากน้ำตาล”
ล่าสุด ผลงาน “ไอศกรีมนมต้นข้าวอ่อนข้าวหอมมะลิปราศจากน้ำตาล” ได้คว้า Gold Medal (เหรียญทอง) จากการเข้าร่วมประกวด The 65th World Exhibition on Inventions, Research and New Technologies (Brussels Innova 2016) ณ ประเทศเบลเยี่ยม โดยมีนักวิจัย 4,000 คน จาก 20 ประเทศ ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม เข้าประกวดกว่า 300 ผลงาน