เชียงราย - คนเชียงราย ผวาสารพิษในเลือดสูง หนี้พอกพูน แห่ทิ้งวิถีการเกษตรแบบใช้สารเคมี หันร่วม “พระ ว.วชิรเมธี” ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำการเกษตรปลอดสาร ยันแค่ 2 ปีเริ่มอยู่ได้ จากคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว เริ่มมีกำลังใช้หนี้ได้แล้ว
พ.อ.จรัส ปัญญาดี รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 ได้เป็นประธานในการเปิดศูนย์เรียนรู้ หมู่บ้านต้นแบบเกษตรปลอดสารพิษ พื้นที่หมู่บ้านกล้วย ม.3 ต.เจริญเมือง อ.พาน จ.เชียงราย ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) จากไร่เชิญตะวัน ซึ่งเป็นต้นแบบของศูนย์ฯ นำคณะฯเปิดป้ายเพื่อเป็นสิริมงคล ท่ามกลางชาวบ้าน ต.เจริญเมือง ที่มาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
ภายในศูนย์ฯ แห่งนี้ได้ใช้พื้นที่ประมาณ 25 ไร่ ของนายจันทร์ ศรีดี อายุ 63 ปี ประธานศูนย์ฯ ซึ่งเป็นชาวบ้านกล้วยเป็นสถานที่ก่อตั้ง และทำเป็นนาข้าว ทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ บ่อเลี้ยงปลา บ่อเลี้ยงกบในนาข้าว สวนพืชผักสวนครัว แปลงองุ่น ฯลฯ ซึ่งต่างให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ที่สำคัญคือ ไม่มีการใช้สารเคมีแต่อย่างใด
นายสมชาติ ลิ้มประพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านกล้วย กล่าวว่า บ้านกล้วย มีประชากรประมาณ 600 กว่าคน 199 หลังคาเรือน และเมื่อ 3-4 ปีก่อน ทางหน่วยงานสาธารณสุขได้จัดให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงตรวจสุขภาพชาวบ้าน ผลการเจาะเลือดพบชาวบ้านจำนวนมากมีปริมาณสารพิษในเลือดมากเกินปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฯลฯ
หลังจากนั้น ตนและชาวบ้านได้ประชุมหารือกันเพื่อหาวิธีการลด และเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้ในการเกษตร แต่ก็ยากเต็มทน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร โดยเฉพาะทำนา ต่อมาได้ส่งกรรมการหมู่บ้านนำโดยตนรวม 6 คน เป็นตัวแทนไปฝึกอบรมโครงการเกษตรปลอดสารเคมีตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ไร่เชิญตะวัน ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย ของ “พระ ว.วชิรเมธี” ใช้เวลาฝึกอบรมทุกวันเสาร์ต่อเนื่องกัน 1 ปี แล้วนำความรู้มาเผยแพร่ ก่อนตั้งศูนย์ขึ้นที่บ้านนายจันทร์แห่งนี้ จนถึงปัจจุบันมีชาวบ้านไปอบรมเป็นรุ่นที่ 2 เรียบร้อยแล้ว และกำลังนำองค์ความรู้เหล่านี้มาเผยแพร่โดยใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น
ด้าน นายจันทร์ กล่าวว่า เดิมตนก็เป็นเหมือนชาวบ้านคนอื่นๆ คือ ทำการเกษตรด้วยสารเคมีจำนวนมากจนกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว เคยกู้ยืมเงินมาเลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาชีพเสริม ก็ขาดทุนยับเยินจนต้องหยุด เพราะยากลำบากมาก กระทั่งเข้าร่วมโครงการอบรมที่ไร่เชิญตะวันแล้วก็หันมาทำปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ ฯลฯ เองทั้งหมด และปลูกพืชหลากหลายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
“ปัจจุบัน จึงมีทั้งนาข้าว เลี้ยงกบ ไก่ เป็ด สวนองุ่น ฯลฯ ทำแบบนี้มาได้ 2 ปีแล้ว จนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ และมีกำลังชำระหนี้ได้เรื่อยๆ แล้ว”
นายจันทร์ กล่าวอีกว่า ล่าสุด ทางหมู่บ้านเรายังได้รับการสำรวจทางอำเภอจนได้รางวัลชนะเลิศการประกวดเป็นหมู่บ้านเกษตรปลอดสารเคมีของ ต.เจริญเมือง และเป็นตัวแทนของอำเภอ ไปประกวดได้อันดับ 2 ของจังหวัดด้วย ตนจึงเห็นว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีภายใต้หลักวิธีการที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่เหมาะสมต่อสังคมไทยในปัจจุบันมาก