บุรีรัมย์ - อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ จัดแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ 31 ต.ค.- 1 พ.ย.นี้ มีทีมเรือจากทั่วทุกสารทิศเข้าร่วมประชันฝีพายถึง 37 ลำ พร้อมร่วมเชียร์แข่งช้างว่ายข้ามลำน้ำมูลระหว่างช้าง จ.สุรินทร์ กับ จ.บุรีรัมย์ชิงถ้วยรางวัลใบใหญ่ที่สุดในโลก จากนั้นช้างที่ชนะจะว่ายแข่งกับนักฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย คาดเงินสะพัดกว่า 20 ล้านบาท
วันนี้ (20 ต.ค.) นายรังสิกร ทิมาตฤกะ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะประธานอำนวยการจัดงานประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ พร้อมด้วยนายธีรพล สกุลรัตน์ นายอำเภอสตึก พ.ต.อ.สนอง วรรณโคตร ผู้กำกับการ (ผกก.) สภ.สตึก และนางวิมลนันท์ ทิมาตฤกะ นายกเทศมนตรีตำบลสตึก ร่วมกันแถลงข่าวเตรียมจัดงานประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประจำปี 2558 ณ ลำน้ำมูล หน้าที่ว่าการอำเภอสตึก ในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน 2558 นี้
ในงานแถลงข่าวได้มีการทำพิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อวังกรูด ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคูเมือง พร้อมโชว์การแสดงช้างยุทธหัตถี หรือการต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง ซึ่งถือเป็นการรบแบบกษัตริย์ในสมัยโบราณ โดยปีนี้ได้นำช้างพลายหนุ่มเสก, พลายทองคำ และพลายขวัญเมือง ที่อยู่ในหมู่บ้านโพนเงิน ต.ท่าม่วง อ.สตึก มาแสดงโชว์ในครั้งนี้ โดยช้างพลายหนุ่มเสกเป็นช้างที่มีงายาวสวยงาม เคยแสดงภาพยนตร์ชื่อดังมาแล้วหลายเรื่อง เช่น องค์บาก ต้มยำกุ้ง และสกอร์เปี้ยนคิงส์ ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ประชาชนที่มาร่วมงานแถลงข่าวและพิธีบวงสรวงในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
ปีนี้นอกจากจะมีการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานแล้ว ยังมีการแข่งช้างว่ายน้ำข้ามลำน้ำมูลระหว่างช้าง จ.สุรินทร์ กับ จ.บุรีรัมย์ ชิงถ้วยรางวัลใบใหญ่ที่สุดในโลกด้วย ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของงานอีกด้วย จากนั้นช้างที่ชนะการแข่งขันจะว่ายแข่งกับนักฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย น.ส.นิสา ร่มเย็น ซึ่งเป็นชาว อ.สตึก เพื่อสร้างสีสันให้แก่งานประเพณีแข่งขันเรือยาวในครั้งนี้ด้วย
โดยในวันเปิดงานจะจัดให้มีขบวนอัญเชิญถ้วยพระราชทานฯ ขบวนพาเหรดช้าง พิธีเห่เรือ และแพแฟนตาซีสะท้อนวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรกอีกด้วย
นายรังสิกร ทิมาตฤกะ กล่าวว่า ประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ เป็นสื่อที่อธิบายถึงความเป็นมา ภูมิหลัง ประวัติศาสตร์ และเป็นมรดกของชาวอำเภอสตึกในอดีต ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากเรือและแม่น้ำ เป็นบ่อเกิดประเพณีวัฒนธรรม แม้ปัจจุบันการสัญจรทางเรือจะมีน้อย แต่แม่น้ำยังเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอีกมากมายหลายด้าน เช่น การเกษตร ประมง และรักษาความสมดุลของธรรมชาติ อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดในอีกทางหนึ่ง โดยในปีนี้มีเรือยาวจากทั่วทุกสารทิศเข้าร่วมประชันฝีพายมากถึง 37 ลำ ซึ่งคาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท